ในจังหวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินสายประลองกำลัง วัดบารมี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำซากหลายจังหวัด พรรคเพื่อไทย เดินเกมเปิดประเด็นเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลากยาวตั้งแต่ปี 2557

โดยอ้างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติชัดเจน “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

“พรรคเพื่อไทย” พยายามชี้ไปที่ประเด็นหากนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกเดือน ส.ค. 2557 หากตีความตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ตรงกับเดือน ส.ค. 2565

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีได้อีกตลอดไป

ขั้นตอนหลังจากนี้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องรอให้ถึงช่วง ส.ค. 2565 จากนั้นใช้ช่อง รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เข้าชื่อ ส.ส. ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินัยฉัยชี้ขาด วาระดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับภาพเหตุการณ์อนาคต หรือ “ซีเนริโอ” (Scenario) เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกได้ 3 หน้า

(1) หน้าแรก ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรกตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งไปผูกโยงกับบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 264 ที่ให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

หมายความว่าหากนับวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2565

(2) หน้าสอง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี วันที่ 5 เม.ย. 2568

โดยก่อนหน้านี้ “มือกฎหมายชั้นพญาครุฑ” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเคยออกมายืนยันการนับวาระดำรงตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลบังคับใช้

ดังนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ปลายปี 2565 นำไปสู่การจัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เท่ากับเหลือวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครึ่งๆ กลางๆ ประมาณ 2 ปี

(3) หน้าสาม ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง

หากออกหน้านี้ เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ได้ถึงวันที่ 8 มิ.ย. 2570 ผูกขาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557-2570 ลากยาว 13 ปี

สถานการณ์การเมืองตอนนี้ ทำให้คิดถึงช่วงปี 2531 ที่พรรคร่วมรัฐบาลสมัยนั้น ส่งเทียบเชิญให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องหลังดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี

ทว่า พล.อ.เปรม ประกาศวลีอมตะ 3 คำที่ดังก้องมาถึงวันนี้ “ผมพอแล้ว” ก่อนลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม พร้อมส่งไม้ต่อให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย.