ปรากฏการณ์สุริยคราสในวันที่ 8 เม.ย. 2567 ทั้งแบบเต็มดวงและบางส่วนนั้น จะมีเพียงผู้ที่อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลางเท่านั้นก็สามารถมองเห็นได้
องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐหรือ “นาซา” ได้เปิดโครงการ “Eclipse Soundscapes Project” ขึ้นมา โดยหวังจะให้ประชาชนในพื้นที่ที่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์สุริยคราสในครั้งนี้ได้ช่วยกันบันทึกข้อมูล “เรื่องแปลกบนโลก” ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เงาของดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์
ก่อนหน้านี้มีการบันทึกมายาวนานถึงหลายศตวรรษถึงเรื่องผิดปกติระหว่างเกิดปรากฏการณ์สุริยคราส โดยเฉพาะพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต เช่น ฝูงนกหรือฝูงแมลงที่หยุดส่งเสียงจนเงียบสงัดหรือฝูงผึ้งที่บินกลับรังเพราะความมืดมิดบนท้องฟ้าที่ปรากฏขึ้นอย่างกะทันหัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ไม่น้อย แต่มนุษย์ก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องแปลกประหลาดเหล่านี้ได้มากนัก องค์การนาซาจึงสนับสนุนโครงการนี้ โดยหวังจะได้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์บนผืนโลกอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์สุริยคราสได้มากขึ้น
When things get dark during a total solar eclipse, animals start to do interesting things!
— NASA Citizen Science (@DoNASAScience) February 21, 2024
The Eclipse Soundscapes project invites people of all backgrounds/abilities to "sense" the April 8th solar eclipse and help study ecosystem impacts. Learn more: https://t.co/G0nRU95osW
อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการนี้สามารถช่วยงานได้หลายวิธี เช่น บันทึกเสียงต่าง ๆ, ตั้งข้อสังเกตระหว่างเกิดปรากฏการณ์หรือเข้าร่วมทีมวิเคราะห์ข้อมูล โครงการนี้หวังจะเป็นการรวบรวมข้อมูลตามรอบกรณีศึกษาสุริยคราสในปี ค.ศ. 1932 และหวังว่าอุปกรณ์และวิธีการใหม่ ๆ ของยุคนี้จะช่วยให้ได้ข้อมูลมากขึ้น ผู้ที่สนใจร่วมโครงการสามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ของ Eclipse Soundscapes
นอกเหนือจากเสียงแปลก ๆ และพฤติกรรมประหลาดของสัตว์หลายชนิดระหว่างเกิดสุริยคราสแล้ว ในบางพื้นที่ยังเคยบันทึกถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและทิศทางการพัดของลมในท้องที่ มีกรณีศึกษาในปี ค.ศ. 2016 ที่บันทึกไว้ว่าระหว่างเกิดสุริยคราสทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแบบเต็มดวงหรือบางส่วน จะทำให้ลมในท้องที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางการพัดไปในทิศตรงกันข้ามกับทิศเดิม
นอกจากนี้ยังมีเรื่องผิดปกติเกี่ยวกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง โดยจะลดต่ำอย่างกะทันหัน และเคยมีเหตุการณ์อุณหภูมิบางพื้นที่ลดต่ำลงจนเหลือเพียง 12 องศาเซลเซียสระหว่างเกิดสุริยคราส
ที่มา : theweathernetwork.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES