เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์พบการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้สูงถึงระดับ 7,058 ราย สะสมเกือบ 2.8 แสนราย เสียชีวิต 75 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล และมีการแพร่ระบาดในต่างจังหวัดตามลำดับ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ค่อยๆ สะสมและเพิ่มแสดงถึงการติดเชื้อที่มากขึ้น มีประชาชนรอตรวจหาเชื้อโควิดจำนวนมาก ที่ รพ.บุษราคัม มีผู้ป่วยเข้า รพ.ในรอบ 2 วันนี้กว่า 1,000 คน ถือว่าจำนวนค่อนข้างมาก เตียง ICU ก็มีแนวโน้มจะใช้มากขึ้นรวมถึงสีเขียวต้องใช้มากขึ้น ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขประสบภาวะเหนื่อยล้า

จึงต้องพยายามหามาตรการ งานการไม่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปกป้องกันโรค ดังนั้นที่ประชุม EOC จึงมีมติ 1. ให้ใช้ชุดตรวจ rapid antigen test ซึ่งเป็นชุดตรวจอย่างง่าย มีหลายการตรวจ ทั้งนี้มาตรการนี้ให้ทำทันที แต่ให้ทำในสถานพยาบาลที่ขึ้นไว้เท่านั้น และมีเตียงรองรับ หากให้ผลเป็นลบก็กลับบ้าน แต่หากให้ผลบวก หรือแพทย์มีความสงสัย ก็จะมีการตรวจซ้ำ RT-PCR เมื่อยืนยันผลเป็นบวกให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาต่อไป สำหรับในอนาคตอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้ชุดตรวจ rapid antigen test ที่บ้านได้ แต่ย้ำว่าตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้

2.มาตรการในข้อ 1 ต้องทำร่วมกับมาตรการดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลตัวเองในชุมชน (Community Isolation) โดยมีการจัดระบบการแพทย์เข้าไปดูแล มีการส่งเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และปรอทวัดไข้ และมีระบบการติดตามอาการ หากอาการสีเหลืองให้เข้ารักษาใน รพ.ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของผู้ป่วยอาการสีเขียวก็จะมีการปรับลดเกณฑ์การดูแลตัวเองที่บ้านจากเดิมที่ต้องอยู่บ้านคนเดียว ก็ให้อยู่เป็นครอบครัวได้ เป็นต้น นอกจากนี้ จะใช้กับผู้ป่วยที่แอดมิทใน รพ.ตั้งแต่ 10 วันแล้ว หรือสั้นกว่านั้น ให้กับมาทำมาตรการดูแลตัวเองที่บ้านและชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการเข้ารับการรักษาใน รพ.ต่อไป

3. มาตรฐานส่วนบุคคลทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ต้องทำอย่างเข้มข้นเรียกว่า บับเบิลแอนด์ซีลตัวเอง ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ขอให้งดรับประทานอาหารร่วมกันเพราะสามารถแพร่ะระบาดได้ จึงขอให้ต่างคนต่างรับประทานสักระยะหนึ่งและอยากให้มีการเน้นการทำงานที่บ้าน (Work from home) ให้มากขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดเชื้อต่อไป 4.การฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค ต้องใช้วัคซีน 80% ของที่มีฉีดให้กลุ่มนี้เพื่อลดอัตรการป่วยหนักและเสียชีวิต โดย 1–2 สัปดาห์ต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโด๊ส โดยกระทรวงจะระดมบุคลากรมาช่วยฉีด

เมื่อถามว่าจากการดำเนินการแบบนี้จะลดผู้ติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมมาตรการนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ หรือ 14 วันในระยะฟักตัวของโรค ซึ่งมาตรการนี้อย่างน้อยจะเท่ากับ เม.ย. 63 ร่วมกับมาตรการฉีดวัคซีน และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนก็จะลดลงได้.