เมื่อวันที่ 4 เม.ย. เวลา 09.20 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคณะจำนวน 98 คน เป็นผู้เสนอ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2

โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทวงถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลสัญญาไว้กับประชาชน ว่า การกระทำของรัฐบาลเป็นเหมือนตลกหกฉาก ซึ่งฉากสุดท้ายที่ส่งเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัดสินเกี่ยวกับการประชามตินั้น ตนไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเมื่อใด เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ทั้งที่รัฐบาลย้ำว่าต้องแก้ไขวิกฤตความเห็นต่าง ข้อสรุปไตรมาสแรกของปี 2567 แต่ตอนนี้เลยเวลาแล้ว 3-4 วัน ในมิติของรัฐธรรมนูญอยู่จุดเดิม และให้อำนาจตุลาการเป็นผู้ตัดสินเรื่องดังกล่าว ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังล่าช้าต่อไป อาจสร้างความเสียหายจากการที่ประเทศไทยสูญเสียโอกาสมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ก่อนการเลือกตั้ง เพราะตามกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หากรัฐบาลดำเนินการตั้งแต่แรก จะใช้เวลาตามวาระของรัฐบาลและก่อนการเลือกตั้ง แต่หากต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญที่ผลอาจออกมาได้  2 ทาง คือ ทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ที่จะจัดรัฐธรรมนูญใหม่ และกฎหมายประกอบได้ทันกรอบ 4 ปี แต่หากทำประชามติ 3 ครั้ง เสี่ยงต้องกลับมาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ รวมถึงไม่ได้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายประกอบก่อนการเลือกตั้ง

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ตนขอฟันธงว่าแม้มีรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน แต่รัฐบาลของนายเศรษฐาที่ตั้งได้และอยู่ได้จากใบบุญอำนาจเดิม จึงไม่ไว้ใจให้ประชาชนออกแบบการเมืองและจัดทำกติกาสูงสุดตามที่ประชาชนคาดหวัง ทั้งนี้ตนขอทำนายว่ารัฐบาลจะมีไพ่ไม้ตายที่เตรียมมาใช้ คือ 1.สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) สูตรผสมจากการเลือกตั้งและจากการแต่งตั้ง เพื่อให้ลงมติแข่งในประเด็นที่ต้องการผลักดัน 2.กินรวบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่หมกเม็ดไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งยื่นเมื่อต้นปี 2567 ผ่านกลไกของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีสัดส่วนจากรัฐบาลและสส.ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน และ 3.ด่านทางผ่านวุฒิสภาที่ได้สิทธิเห็นชอบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่สสร.ยกร่าง ก่อนนำไปทำประชามติ แม้จะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ แต่เชื่อว่ายังยึดโยงกับเครือข่ายอำนาจเดิม เป็นแนวทางที่รัฐบาลคิดค้นและทยอยใช้เพื่อควบคุมรัฐธรรมนูญใหม่

“หากคำทำนายเป็นจริงคือรัฐบาลเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ผลิตนวัตกรรมล็อกสเปกรัฐธรรมนูญ นี่คือประชาธิปไตยที่ขอใบอนุญาต พรรคเพื่อไทยพยายามออกแบบกลไกให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแทรกแซง เพราะพรรคเพื่อไทยพ่ายสนามเลือกตั้ง จึงมองว่าไม่ได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง ต้องหากระบวนการ ขอให้รัฐบาลยืนยันจะไม่กินรวบ ไม่ต้องขอใบอนุญาตจาก สว. ก่อนทำประชามติ เพื่อให้ความหวังประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่แตกสลาย ขอเสนอให้ปฏิเสธคำถามยัดไส้ แต่ต้องตั้งคำถามเปิดกว้างและสนับสนุนสสร.จากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลในการผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่จะแสดงถึงความจริงใจและรักษาคำพูดสัจจะที่ให้ไว้ประชาชน”นายพริษฐ์ กล่าว