เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานกรณีผู้พิพากษาอาวุโสประจำกรุงลอนดอนปฏิเสธที่จะเพิกถอนคำตัดสินที่อนุญาตให้สามีภรรยาคู่หนึ่งหย่าร้างได้สำเร็จตามกฎหมาย ทั้งที่ไม่ใช่ความประสงค์ของพวกเขา เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในเอกสารคำร้อง
บริษัทที่เดินเรื่องขอหย่าขาดและทำเอกสารผิดพลาดในครั้งนี้คือบริษัทวาร์ดักส์แห่งลอนดอน ซึ่งเป็นบริษัทของ เอชา วาร์ดักส์ ทนายความที่ปรึกษาและทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านการหย่าร้างชื่อดังของอังกฤษ
ส่วนคู่สามีภรรยาที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ใช้นามสมมุติว่า นายและนางวิลเลียมส์ แต่งงานกันมาแล้ว 21 ปี ก่อนจะแยกกันอยู่เมื่อปี 2566 ทั้งสองกำลังอยู่ระหว่างการแบ่งทรัพย์สินและการเงินให้เรียบร้อยก่อนยื่นเรื่องหย่าขาด แต่พนักงานร่างเอกสารของบริษัทวาร์ดักส์ใส่ชื่อพวกเขาลงไปในเอกสารยื่นขออนุมัติให้หย่าขาดตามกฎหมายด้วยความสะเพร่าและยื่นคำร้องไปทางช่องทางออนไลน์ของระบบ ซึ่งจะส่งเอกสารไปยังผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้เลย ทำให้สามีภรรยาคู่นี้ได้รับคำตัดสินให้หย่าขาดจากกันตามกฎหมายภายในเวลาเพียง 21 นาที
หลังจากนั้น ทางบริษัทได้พยายามขอให้ศาลยกเลิกคำตัดสิน แต่ผู้พิพากษาปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ความเชื่อมั่นของสาธารณชนในคำตัดสินสุดท้ายของศาลมีความสำคัญมากกว่า
บริษัทวาร์ดักส์เพิ่งมารู้ว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นหลังจากที่มีคำตัดสินออกมาแล้ว 2 วัน เมื่อโดนศาลปฏิเสธที่จะยกเลิกคำตัดสิน บริษัทก็พยายามชี้แจงและยืนยันต่อศาลว่าพนักงานของบริษัททำงานผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยแค่คลิกเมาส์เลือกไฟล์เอกสารผิดเพียงครั้งเดียว
แต่ด้านผู้พิพากษาอธิบายว่าในความเป็นจริงแล้ว เวลาส่งเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ส่งจะต้องดำเนินการผ่านหลายขั้นตอนตามหน้าจอที่จะเปลี่ยนไปตามลำดับขั้นตอน ก่อนที่จะส่งเอกสารในขั้นตอนสุดท้าย ไม่ใช่แค่การคลิกครั้งเดียวก็ส่งเอกสารได้
ด้าน เอชา วาร์ดักส์ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้าแม่คดีหย่าร้าง” ก็กล่าวถึงการตัดสินใจของผู้พิพากษาในครั้งนี้ว่า “แย่” โดยโต้แย้งว่า ทางการไม่ควรตัดสินให้คู่สามีภรรยาหย่าขาดกันโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายเพียงเพราะความผิดพลาดทางเอกสาร
วาร์ดักส์ชี้ว่า ในการหย่าขาดนั้นจำเป็นต้องแสดงถึงความมุ่งมั่นของคู่หย่าร้าง เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นและทุกคนต่างยอมรับว่าได้ทำผิดไป ก็น่าจะสามารถยกเลิกผลของการกระทำนั้นได้ แต่การปฏิเสธของศาลในครั้งนี้เท่ากับบอกว่า ระบบกฎหมายของอังกฤษสามารถตัดสินให้คนหย่าขาดจากกันได้เพียงเพราะความผิดพลาดในระบบออนไลน์ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผลและไม่ยุติธรรม
ที่มา : odditycentral.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES