สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ว่า เครือข่ายสภาพอากาศนานาชาติ เผยแพร่การศึกษา เกี่ยวกับคลื่นความร้อนรุนแรงที่กระทบภูมิภาคซาเฮล บริเวณทะเลทราย บนเขตรอยต่อระหว่างแอฟริกาเหนือกับใต้ เมื่อต้นเดือน เม.ย. ปีนี้ ว่าอาจไม่เกิดขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศมาลีและประเทศบูร์กินาฟาโซ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 5 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 45 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

การสังเกตและแบบจำลองที่นักวิจัยใช้แสดงให้เห็นว่า คลื่นความร้อนในเดือน มี.ค. ถึง เม.ย. 2567 คงไม่เกิดขึ้น หากโลกไม่ได้ร้อนขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งคลื่นเหล่านี้ “เชื่อมโยง” กับการกระทำให้โลกร้อนของมนุษย์

อย่างไรก็ดี บริเวณซาเฮลจะร้อนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อุณหภูมิสามารถต่ำลงกว่านี้ได้อีก 1.4 องศาเซลเซียส ถ้ามนุษย์ไม่ทำให้โลกร้อนขึ้นจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ในระยะเวลา 5 วันนั้น อากาศร้อนมากเป็นพิเศษ ครั้งแรกในรอบ 200 ปี และคาดว่าอาจเกิดขึ้นอีกพร้อม ๆ กับภาวะโลกร้อนในอนาคต

แม้ประชาชนในแอฟริกาจะคุ้นเคยกับอุณหภูมิสูงอยู่แล้วก็ตาม แต่สภาพอากาศร้อนที่มีความยาวและรุนแรงขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งในมาลีและบูร์กินาฟาโซ

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนอย่างชัดเจน แต่นักวิจัยเชื่อว่า อาจมีหลายร้อยหรือหลายพันราย

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคซาเฮล ต่อสู้กับภัยแล้งมาตั้งแต่ปี 2513 และเผชิญกับฝนตกหนัก ในช่วงปี 2533

แหล่งน้ำและทุ่งหญ้าลดน้อยลง ประกอบกับการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชากรผู้เลี้ยงสัตว์ และยังกระตุ้นให้กลุ่มติดอาวุธขยายการยึดครองดินแดนอันกว้างใหญ่ ทั้งในประเทศไนเจอร์ มาลี และบูร์กินาฟาโซ.

เครดิตภาพ : AFP