กลายเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก” สำหรับประชาชนคนไทย จากวิกฤติ 2 มหาวิปโยค ที่เรียงหน้าเข้าถล่มช้ำเติมจนทำเอาเลือดตาแทบกระเด็น

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่ทันจะสร่างซา ก็ต้องมาเจอกับวิกฤติน้ำท่วม จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู” ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมแผ่ขยายไปมากกว่า 30 จังหวัด ในหลายๆลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ กลายเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ร่อแร่อยู่แล้ว ให้เข้าขั้นสาหัสมากยิ่งขึ้น ได้รับความเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า จนทำเอาประชาชนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร

แม้ก่อนหน้านี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะมีการจัดคิวเดินสายลงพื้นที่ประสบอุทกภัยในหลายจังหวัด ซับน้ำตาผู้ได้รับผลกระทบ แม้จะเป็นการช่วยเพิ่มกำลังใจ แต่ความทุกข์ร้อนที่ประชาชนต้องประสบพบเจอ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที มิหนำซ้ำยังเจอดราม่าจากโลกโซเชียล ทั้งการพูดเรื่องสวดมนต์ไล่พายุ การคุยกับวัวแบบอารมณ์ดีทั้งที่ประชาชนเดือดร้อน จนกลายเป็นว่า แม้ “บิ๊กตู่” จะลงพื้นที่ถี่มากขึ้น แต่ก็พลาดท่าโดนจับผิดอยู่ตลอด

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ก็ถึงกับนั่งไม่ติด ต้องออกโรงสั่งการบริหารจัดการน้ำ ควบคู่กับภาพ “น้องตู่” ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนแบบถี่ยิบ

แต่งานนี้เห็นทีรัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก เพราะถึงแม้เหตุการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู” จะเป็นเรื่อง “ภัยธรรมชาติ” แต่ก็เป็นสิ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลละเลงงบประมาณทำมาโดยตลอด สุดท้ายพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการป้องกันน้ำท่วมได้เลย!

และที่น่าสนใจคือ การใช้งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่ง สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมของรัฐบาล ล้มเหลวซ้ำซาก ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาใช้งบบริหารจัดการน้ำปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ประชาชนยังต้องประสบปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมทุกปี

นอกจากความทุกข์ร้อนจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว ประชาชนคนไทยยังต้องเผชิญกับไฟการเมืองที่กำลังคุกรุ่นร้อนระอุ ขึ้นอีกระรอก!

ไล่ตั้งแต่ปัญหา “รอยร้าว” ของกลุ่ม “พี่น้อง 3ป.” ที่ถึงแม้ก่อนหน้านี้ “พี่ป้อม” จะออกมาพูดถ้อยคำหวานซึ้งกินใจว่า “ให้ตายจากกัน เรา 3 ป.ถึงจะเลิกรักกัน” หรือความพยายามสร้างฉากหวานให้ “พี่น้อง 3ป.” ทั้งการปิดห้องพูดคุยนอกรอบภายหลังจบการประชุม ครม. และมีภาพ “น้องตู่” เดินจับมือส่ง “พี่ใหญ่” ขึ้นรถ เพื่อหวังให้ประชาชนเข้าใจว่า “พี่น้อง 3ป.” กลบรอยร้าวที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

แต่กลับทำเอาหลายคนปักใจเชื่อว่าเป็น “เฟคนิวส์”  เพราะยังคงมี “สัญญาณรอยร้าว” ของ “พี่น้อง 3ป.” ปรากฏให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่เห็นได้ชัดกันแบบคาตาคือการเมืองสองขั้วสองข้าง โดยมีตัวละครหลักคือ  “พี่น้อง 3ป.” และเพิ่มเติม “ป.แป้ง” เป็นตัวละครที่ 4 แม้งานนี้ “พี่ป้อม” จะทำหน้าที่แกนกลางประสาน “ป.ประยุทธ์-ป.ป๊อก” เข้ากับ “ป.แป้ง” แต่ยังไม่สามารถสร้างสมดุลอำนาจได้ ทำเอา “เรือเหล็ก” เอียงกะเท่เร่ท่ามกลางเกลียวคลื่นการเมืองที่ดุดันขึ้นทุกขณะ

นอกจากนั้นแล้วความพยายามประสานรอยร้าวของ “พี่น้อง 3ป.” อาจโยงถึงการประชุม ครม. ที่มีมติการโอนอำนาจในการคุม 4 กรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้กับ “บิ๊กป้อม” แบบข้ามหัวเจ้ากระทรวงที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจุดนี้ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าอาจจะเป็นความพยายาม ของ “บิ๊กตู่” ที่จะง้องอน “พี่ป้อม” เพราะอำนาจในการคุม 4 กรมนี้ถูกมองว่าอาจจะส่งมอบให้กับ “รมต.เงา” อย่าง ร.อ.ธรรมนัส กลับมามีบทบาทดูแล เสียมากกว่า

จนทำเอาเพื่อนพรรคร่วมอย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ต้องออกมาสะกิดเตือนให้ “บิ๊กตู่” รีบแก้ปัญหาในพรรคพลังประชารัฐให้เสร็จเป็นอันยุติ เพื่อไม่กระทบถึงส่วนอื่นหรือพรรคการเมืองอื่น มิฉะนั้นอาจกลายเป็นเรื่อง แทนที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดให้ลุล่วงจะเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งโดยไม่จำเป็น

แน่นอนว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างชัดเจน หากยังปล่อยให้รอยร้าวนี้ปริแตกลึกลงไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศให้เลวร้ายลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่!

และสิ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้ปัญหารอยร้าว “พี่น้อง 3ป.” ก็คงหนีไม่พ้น การเมืองในจังหวะ “ฉ.ฉิ่งตีดัง” จากการเปิดประเด็นของ “ผู้การสุชาติ” พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ “บิ๊กตู่” ก็ได้ออกมาบอกชัดว่า เตรียมไปร่วมงานในพรรคใหม่ คือ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ร่วมกับ “ปลัดฉิ่ง”ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ภายหลังเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และเป็นที่คาดการณ์ว่าอาจจะมี ส.ส.ภาคใต้พรรคพลังประชารัฐ ย้ายไปอยู่กับพรรคใหม่นี้ด้วย โดยมีรายงานว่า พรรคใหม่ได้รับการสนับสนุนจาก “2 ป.” เพื่อถ่วงดุลกับพรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม  และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มองว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นของ “บิ๊กป้อม” และกลุ่มนักการเมืองที่ไม่มีท่าทีสมานฉันท์กับ “บิ๊กตู่” ดังนั้นหาก “2 ป.” ยังอยากจะเล่นการเมืองต่อ ก็ต้องอาศัย “พรรคลุงฉิ่ง” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

สอดคล้องกับอาการของ “บิ๊กป๊อก” ที่เพิ่งจะเปิดปากยอมรับเป็นครั้งแรกว่า การทำงานการเมืองในช่วงหลังเมื่อทำงานร่วมกับพรรคการเมือง ก็ได้รู้ว่าอ่อนด้อยในเรื่องการใกล้ชิดประชาชน โดยพรรคการเมืองนั้นเขาทำงานใกล้ชิดพี่น้องประชน ดังนั้นจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องลงพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน รับฟังปัญหาและความเดือดร้อน จากคำพูดดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นได้ชัดว่า “2 ป.” ป.ประยุทธ์-ป.ป๊อก ยังไม่ยอมแพ้ ยังคงเดินเกมรุกในการลงพื้นที่ เพื่อ “ชักธงรบ” แก้เกมขาลอยจากพรรคการเมือง

แต่งานนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะทันหรือไม่ แม้ตอนนี้กระสุนดินดำจะมีการเปลี่ยนขั้วเทมาข้าง “2 ป.” มากขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่า การปรับบทบาทของ ป.ประยุทธ์-ป.ป๊อก ที่จะลดตัวลงมาจากหอคอยงาช้าง มาคลุกฝุ่นกับนักการเมือง ที่ตัวเองเคยเดียดฉันท์ จะทำได้นานนแค่ไหน

นอกจากนี้ “บิ๊กตู่” ยังต้องมาเจอกับปมร้อนๆ ที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่  ที่กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้งานนี้โฆษกรัฐบาล จะออกมายืนยันว่า  “บิ๊กตู่” ไม่วิตก เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้สุดท้ายก็คงต้องรอดูว่าหากมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาในแนวทางไหน ซึ่งยังค่อนข้างก้ำกึ่งที่ต้องลุ้นกันต่อไป

ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประธานสภาฯ ได้ส่งถึงมือ “บิ๊กตู่” แล้ว หลังจากครบกำหนด 15 วันที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 จากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งหลังจากนี้ “บิ๊กตู่” จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ท่ามกลางความคาราคาซังจากกระบวนการแก้ไขที่ถูกมองว่าอาจขัดหลักการรัฐธรรมนูญ จนทำให้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งต้องรอจับตาดูกันว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นปมร้อนทางการเมือง ที่ย้อนกลับมาเพิ่มความร้อนแรงให้สถานการณ์การเมืองในอนาคตหรือไม่

ปิดท้ายด้วยเกมการเมืองร้อนนอกสภาฯ ในช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดการยกระดับการชุมนุมทางการเมืองร้อนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากถือเป็นเดือนแห่งสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ของประชาชน และยังเป็นช่วงเวลาที่สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่เริ่มทุเลาลง ดังนั้นหลังจากนี้อาจจะได้เห็นภาพการชุมนุมทางการเมืองที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากจนเป็นม็อบแบบเบิ้มๆอีกครั้งก็เป็นได้

จากปัญหาวิกฤติและความร้อนแรงทางการเมืองทั้งหมดทั้งมวล เป็นเหมือนสัญญาณเตือนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า ช่วงเวลาหลังจากนี้อาจถือเป็นยุคมหาวิปโยคของประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง!