เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะหรือ “เอไอ” นั้นมีประโยชน์ แต่ก็อาจก่อโทษได้เช่นกัน หากมีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นในกรณีล่าสุดที่มีผู้เปิดเผยว่าพบแก๊งมิจฉาชีพในหมู่นักขายเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ อาศัย “เอไอ” สร้างภาพของต้นไม้ ดอกไม้ที่ไม่มีอยู่จริงในโลก เพื่อหลอกเอาเงินจากผู้ที่ชื่นชอบพันธุ์ไม้แปลก ๆ

พันธุ์ไม้ยอดนิยมที่แก๊งมิจฉาชีพนำมาหลอกขายในคราวนี้ถูกตั้งชื่อไว้ว่า “ดอกหน้าแมว” (Cat’s Eye Dazzle) ซึ่งไม่เพียงปรากฏอยู่ในเว็บไซต์หลอกลวงหลายแห่ง แต่ยังมีการโพสต์ขายบนเว็บไซต์ยอดนิยมของอีเบย์ (eBay) และเอตซี (Etsy) อีกด้วย 

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งใช้ชื่อสมมุติว่า “StorieSpot” ได้โพสต์ภาพ “ดอกหน้าแมว” ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า National Geographic Wild Planet (ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิตยสารหรือช่องรายการ National Geographic) ภาพดอกไม้ดังกล่าวดูคล้ายใบหน้าของแมวซึ่งมีความน่ารัก น่าเอ็นดูอย่างมาก 

ผู้ที่เห็นภาพต่างชื่นชอบความน่ารักของดอกไม้จนกระทั่งไม่ได้สนใจจะตรวจสอบว่าเป็นดอกไม้ที่มีอยู่จริงหรือไม่ และทำไมจึงไม่เคยมีคนพบเห็นดอกไม้ชนิดนี้มาก่อน 

ภาพดังกล่าวมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามากดไลก์มากกว่า 80,000 ครั้งและยังมีผู้แชร์ภาพออกไปหลายพันครั้งบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ยังมีชาวเฟซบุ๊กจำนวนมากแสดงความสนใจ ต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์ของดอกไม้ชนิดนี้มาปลูก

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวพบว่ามีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ดอกหน้าแมวนี้จริง ๆ บนเว็บไซต์ที่ดูน่าเชื่อถือหลายที่ ในราคาระหว่าง 15-30 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 550-1,110 บาท) ต่อซอง ทว่า เมล็ดพันธุ์ที่จำหน่ายโดยอวดอ้างว่าเป็นเมล็ดของต้นดอกหน้าแมวนั้นไม่ใช่ของจริง

เว็บไซต์จับโกหกและตีแผ่ข่าวเท็จชื่อดังอย่าง Snopes ระบุว่า ต้นดอกหน้าแมวหรือ Cat’s Eye Dazzle ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ตามที่ปรากฏอยู่ในภาพหลายภาพที่แพร่หลายบนแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ยืนยันได้ว่ามันเป็นพืชที่มีอยู่จริงบนโลก ภาพดอกหน้าแมวบางภาพที่แชร์กันทั่วไปนั้นดูเหมือนใบหน้าของแมวมาก ๆ จนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นต้นไม้จริง ๆ 

@partlysunnyprojects

No, but seriously everything that’s on the Internet is not real. Hell, even my face has been touched up. You can’t believe anything let alone Pokémon anime kitty cat flowers!!! #PartlySunnyProjects #BuyerBeware#greenscreen

♬ Animal baby – 上野燿

ต่อมามีชาวเน็ตสันนิษฐานว่าภาพดอกหน้าแมวเหล่านี้คือภาพที่ใช้โปรแกรม “เอไอ” สร้างออกมาเพื่อหลอกขายเมล็ดพันธุ์ซึ่งผู้ขายส่วนใหญ่เป็นร้านค้าจากจีน และหลังจากที่มีชาวเน็ตบางรายยอมลงทุนสั่งซื้อเมล็ดดอกหน้าแมวมาจริง ๆ ก็พบว่าร้านค้าส่งเมล็ดพันธุ์มาให้จริง แต่ก็คาดว่าเมื่อปลูกแล้วคงไม่ได้เป็นดอกหน้าแมวเหมือนหน้าซอง ทว่า เมล็ดพันธุ์ของดอกแพนซีและดอกพิทูเนียที่พวกเขาสั่งมาพร้อมกันนั้น กลับเป็นเมล็ดของดอกไม้เหล่านั้นจริง ๆ

ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของแก๊งมิจฉาชีพใช้โปรแกรมตกแต่งภาพเพื่อหลอกลวงคนที่ชอบทำสวนให้ซื้อดอกไม้หรือต้นไม้ที่ไม่มีอยู่จริงมานานแล้ว แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเอไอเข้ามาก็ยิ่งทำให้การทำภาพปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ซื้อเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

ที่มาและเครดิตภาพ : odditycentral.com