วารสารสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐ เพิ่งเผยแพร่กรณีศึกษาใหม่ล่าสุด โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์โกรธกับโรคที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา
รายงานล่าสุดนี้ระบุว่า เมื่อเรามีอารมณ์โกรธ แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าเป็นอาการ “หัวใจวาย”
ผลการศึกษานี้ ได้จากทีมวิจัยจากศูนย์การแพทย์เออร์วิงแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, คณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล, มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์นแห่งนิวยอร์ก และอีกหลายสถาบัน
ทีมวิจัยได้เชิญกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 280 คน และสุ่มแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม แล้วบอกให้พวกเขาลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธ, เศร้าเสียใจหรือวิตกกังวลใจ
จากนั้น กลุ่มทดลองที่จัดให้อยู่ในฝั่งควบคุมอารมณ์จะต้องนับเลขแบบออกเสียงจาก 1 ถึง 100 เป็นเวลา 8 นาที เพื่อรักษาสภาวะของอารมณ์ให้เป็นปกติ
ในการทดลองนี้ จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดและวัดระดับความดันโลหิตของผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมด จากช่วงก่อนทำกิจกรรมและหลังทำกิจกรรม
ผลของการเก็บข้อมูลเพื่อกรณีศึกษาดังกล่าวพบว่า หลอดเลือดของกลุ่มที่คิดถึงอารมณ์โกรธ สามารถขยายตัวได้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่อยู่ในฝั่งควบคุมอารมณ์
สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มที่กำหนดให้คิดถึงความเศร้าเสียใจและความวิตกกังวลนั้น ความสามารถในการขยายตัวของหลอดเลือดของพวกเขากลับไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ
การขยายตัวและหดตัวของหลอดเลือดนั้น มีผลต่อการเพิ่มหรือลดของเลือดที่ไหลเวียนไปยังอวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย ผลกระทบเชิงลบใด ๆ ที่มีต่อความสามารถในการขยายตัวของหลอดเลือดอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, สมองขาดเลือด, โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคไตเรื้อรัง
ทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความเกี่ยวโยงระหว่างอารมณ์โกรธและโรคหัวใจ เช่น ภาวะที่เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น, การกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดจากฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด
ด้าน ดร.ฮอลลี มิดเดิลคอฟ ศาสตราจารย์จากโรงเรียนแพทย์เดวิด เกฟเฟน แห่งมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้ ได้แนะนำแพทย์อเมริกันว่า ควรบอกกล่าวแก่คนไข้โรคหัวใจและคนไข้ที่มีปัญหาด้านการจัดการและควบคุมอารมณ์โกรธ ให้หมั่นออกกำลังกาย เช่น โยคะ พร้อมกับเข้าบำบัดพฤติกรรม
ที่มา : people.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES