เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่จังหวัดภูเก็ต นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังรัฐบาลออกมาแถลงความชัดเจนในการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ ว่า ป.ป.ช.จะดำเนินการเฝ้าระวังต่อไป หลังจากที่ได้มีการเสนอมาตรการไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยจะดูว่ารัฐบาลได้นำข้อสังเกตอะไรที่ ป.ป.ช.ได้ให้ไว้ไปปรับปรุง ดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะประเด็นของการกู้เงิน การใช้ระบบบล็อกเชน (Blockchain) แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอการขับเคลื่อนโครงการที่ชัดเจนมากกว่านี้ โดย ป.ป.ช.ได้รวบรวมข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการดำเนินการของ ป.ป.ช.อยู่ในการป้องปราม เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้น หากมีประเด็นก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ก่อนแนะนำไปยังรัฐบาล เพราะ ป.ป.ช.ไม่สามารถห้ามหมดทุกเรื่องได้ ซึ่งรัฐบาลก็มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งข้อกังวลถึงการใช้งบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.นั้น ยืนยันว่าป.ป.ช. มีอำนาจติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย เพราะงบของ ธ.ก.ส. เป็นงบที่ใช้สำหรับกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก จำเป็นต้องไปดูระเบียบของธ.ก.ส. ว่าสามารถใช้งบดังกล่าวกับโครงการนี้ได้หรือไม่ ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.อยู่แล้ว ซึ่งต้องไปดูข้อกฎหมาย วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าใครผิดใครถูก
เมื่อถามว่ามีการมองว่าฝ่ายการเมืองมีความต้องการให้ใช้งบประมาณส่วนนี้ แล้วทำให้ ธ.ก.ส. ต้องยินยอม เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองก็คงไม่กล้าที่จะทำผิดกฎหมายเพราะมันสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะถ้ากฎหมายบอกว่าทำไม่ได้ ก็อย่าไปฝืน อันตราย
“หากผมเป็นรัฐบาลผมก็ไม่ทำหรอก มันตรวจสอบได้ง่าย” นายนิวัติไชย กล่าว และว่า เวลานี้ยังมองไม่เห็นช่องทางการทุจริตในโครงการดังกล่าว
เมื่อถามว่า โครงการนี้มีความคล้ายคลึงกับโครงการจำนำข้าวหรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า โครงการนี้แตกต่างจากโครงการจำนำข้าว แต่ก็มีประเด็นที่จะต้องจับตา เพราะงบประมาณส่วนนี้สนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรของเกษตรกร ดังนั้นต้องดูว่าจะมีปัญหาการฮั้วกับผู้ประกอบการหรือไม่ มีหลายเจ้าหรือไม่ ถ้ากำหนดว่าจะต้องซื้อปุ๋ยจากเจ้านี้ๆ นั่นแปลว่าล็อก ก็ถือว่ามีการเอื้อประโยชน์ หากมีผู้ประกอบการหลายเจ้า เกษตรกรสามารถเลือกซื้อได้โดยที่ไม่มีการบังคับ ก็ถือว่าเป็นอิสระ มีเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาในการหมุนเวียนทำการเกษตร ส่วนจะเป็นเกษตรกรจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องไปดู.