สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ว่าโออีซีดีปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2567 หลังได้แรงกระตุ้นจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง จากสหรัฐและประเทศเกิดใหม่ ขณะที่ยุโรปยังตามหลังอยู่
ผลการคาดการณ์ใหม่จากโออีซีดีระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ไว้ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ร้อยละ 2.9
แคลร์ ลอมบาร์เดลลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ระบุในรายงานรายไตรมาสว่า “มีการคาดการณ์ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ในทางที่ดี อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นการเติบโตเพียงเล็กน้อย และยังมีปัจจัยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อยู่” อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าการฟื้นตัวนี้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค
The Economic Outlook for Southeast Asia, China and India 2024 is out now.
— OECD ➡️ Better Policies for Better Lives (@OECD) May 2, 2024
Economic growth in #EmergingAsia persists despite challenges, but the region faces risks, particularly from more frequent disasters.
Read policy analysis and advice: https://t.co/6vO10HSuvU pic.twitter.com/D42MmNpyTP
เศรษฐกิจสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ที่ร้อยละ 2.1 และขยายตัวเร็วกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.5
นอกจากนั้น โออีซีดีเพิ่มการคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกที่ร้อยละ 4.9 จากที่ก่อนหน้านี้คาดว่า จะเติบโตเพียงร้อยละ 4.7 ส่งผลมาจากนโยบายการคลังแบบขยายตัว
ในทางกลับกัน โออีซีดีประเมินว่า การเติบโตในยูโรโซนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เป็นร้อยละ 0.7 จากร้อยละ 0.6 และฟื้นตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2568 เทียบกับร้อยละ 1.3 ที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ
นายมาเทียส คอร์มันน์ เลขาธิการโออีซีดี ให้ความเห็นว่า “เศรษฐกิจโลกได้รับการพิสูจน์แล้วว่าฟื้นตัวได้ อัตราเงินเฟ้อลดลงภายใต้เป้าหมายของธนาคารกลาง และความเสี่ยงต่อทิศทางของเศรษฐกิจก็มีความสมดุลมากขึ้น”
ด้านธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ภายหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ หลุดพ้นจากการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพุ่งสูงขึ้นอีกภายหลังที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน เมื่อปี 2565
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง แต่ตลาดโลกต่างหวังว่า จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จากการที่อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เริ่มลดลง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากยังคงต้องประเมินความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐ และราคาสินค้าบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ย ไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวว่า “จะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้” เพื่อให้มั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังดำเนินไปตามเป้าหมาย ซึ่งเฟดตั้งเป้าเอาไว้ที่ร้อยละ 2.0
อย่างไรก็ตาม โออีซีดีเตือนว่า “ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับสูง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานและการเงิน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นและการเติบโตชะงักลง”
คอร์มันน์อธิบายเพิ่มเติมว่า การดำเนินการตามนโยบายจำเป็นต้องรับประกันเสถียรภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนรวม และปรับปรุงแนวโน้มการเติบโตในระยะกลาง
“ต้องระมัดระวังนโยบายการเงิน ให้อยู่ในขอบเขตการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง” เขากล่าว
นอกจากนี้ นายคอร์มันน์ระบุเพิ่มเติมว่า “นโยบายการคลังจำเป็นต้องจัดการกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อความยั่งยืนของหนี้ และการปฏิรูปนโยบายควรส่งเสริมนวัตกรรม, การลงทุน และโอกาสในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสำหรับสตรี, คนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ”
ตามรายงานของโออีซีดี การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน สภาวะรัดตัวของตลาดแรงงาน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดหวัง จะช่วยสร้างการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดี โออีซีดีเตือนว่า “ภูมิทัศน์เศรษฐกิจมหภาคแบบผสมจะยังคงอยู่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยลดลงในอัตราที่ต่างกัน และความต้องการในการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง”
ในทางกลับกัน โออีซีดีปรับลดการคาดการณ์การเติบโตในปี 2567 ของเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป ลงเหลือร้อยละ 0.2 จากร้อยละ 0.3
ขณะที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูโรโซน มีคาดคะเนว่า จะขยายตัวร้อยละ 0.7 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ 0.6 หลังมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ด้านสหราชอาณาจักร เศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 0.4 ในปี 2567 และร้อยละ 1.0 ในปี 2568 ช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยทางโออีซีดีได้ตำหนิว่าเกิดจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่.
เครดิตภาพ : AFP