สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ว่า จากเนื้อหาตอนหนึ่งในรายการ "60 นาที" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ฟรานเซส ฮอเกน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วัย 37 ปี ซึ่งเคยร่วมงานกับเฟซบุ๊ก กล่าวว่า เธอคือผู้เผยแพร่ข้อมูลให้แก่เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เกี่ยวกับ "อันตราย" ของอินสตาแกรม หนึ่งในบริการสังคมออนไลน์ในเครือของเฟซบุ๊ก 
เมื่อไม่นานมานี้ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เผยแพร่รายงานพิเศษ เกี่ยวกับการที่เฟซบุ๊กกลายเป็นกลไกเพิ่มการแบ่งแยกในสังคมออกเป็นสองขั้ว นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงระบบอัลกอริทึม การจัดการข้อมูลบิดเบือนเพื่อลดความลังเลของประชาชนในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นไปด้วยความล้มเหลว และทราบดีว่า อินสตาแกรมมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้งานในวัยเด็กสาว "แต่เพิกเฉย"
ทั้งนี้ ฮอเกน กล่าวว่า ภายในเฟซบุ๊กมีบรรยากาศของ "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" ระหว่าง "สิ่งที่ดีต่อสังคม" กับ "สิ่งที่ดีต่อเฟซบุ๊ก" อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเลือกผลประโยชน์ "เพื่อตัวเองมากกว่า" หรือกล่าวได้ว่า เฟซบุ๊ก "เลือกทำเงินบนความปลอดภัย และสภาพจิตใจของผู้ใช้งาน" อาทิ การคัดสรรเนื้อหาให้ปรากฏบนหน้าหลักของผู้ใช้งานคนนั้น โดยคัดสรรเนื้อหาที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว ว่าผู้ใช้งานคนนั้นจะตอบสนองต่อเนื้อหาที่เฟซบุ๊ก "เลือกให้" ในระดับที่ "ยิ่งมากยิ่งเป็นเงิน" กับบริษัท
นอกจากนี้ ฮอเกน กล่าวอีกว่า เฟซบุ๊กยังมีแนวทางการทำงานที่ผิดเพี้ยน ไม่เคยมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดการกับวาทกรรมสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาข้อมูลข่าวสารเท็จบนแพลตฟอร์ม แม้เฟซบุ๊กเคยให้ความร่วมมือกับส่วนกลาง ด้วยการเปิดระบบเตือนภัยความปลอดภัย ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว และการจลาจลที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ปีนี้ แต่เมื่อสถานการณ์ยุติ เฟซบุ๊กปิดระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ขณะที่ยังไม่มีความเห็นโดยตรงจาก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบันของเฟซบุ๊ก แต่ฝ่ายโฆษกออกแถลงการณ์ปฏิเสธบทสัมภาษณ์ทั้งหมดของฮอเกน และระบุด้วยว่า "เป็นเรื่องตลก" ที่มีการเชื่อมโยงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา กับการทำงานของโซเชียลมีเดีย.

เครดิตภาพ : REUTERS