เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายื่นเอกสารในคดีอาญาที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ฟ้องหมิ่นประมาท น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง เรียกค่าชดใช้ 2 ล้านบาท กรณี บุ้ง แสดงความคิดเห็นกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวถึงเยาวชนหญิง หรือหยก ว่าบุ้ง เป็นผู้รับเลี้ยงเด็กอายุ 15 ปี เพื่อหวังผลประโยชน์และเรียกรับเงินเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่าย โดยเอกสารแจ้งการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ต่อศาล แต่เมื่อมาถึงกลับพบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ถอนฟ้องในทุกข้อหากับบุ้งทั้งหมดแล้วไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. หลังจากที่บุ้งเสียชีวิตเพียง 1 วัน
ส่วนเมื่อถามถึงเอกสารการรักษา บุ้ง ที่ไปรับมาเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) 26 แผ่น นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ตนและครอบครัวของบุ้ง รู้สึกเคลือบแคลงใจ และตั้งข้อสงสัยถึงเอกสารดังกล่าวว่า และได้นำเอกสารดังกล่าวไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช และแพทย์เฉพาะทาง มองว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงเอกสารบางส่วนหรือไม่ และที่สำคัญ เวลาการรายงานผลการช่วยชีวิตไม่ตรงกับเวชระเบียนของ รพ.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเอกสารจากเวชระเบียน ระบุว่า วันที่ 14 พ.ค. เวลา 06.15 น. บุ้งมีอาการเกร็ง ตาเหลือก เรียกไม่รู้สึกตัว และเริ่มทำการกู้ชีพ (CPR) ในเวลา 06.23 น. แต่จากแบบบันทึกการกู้ชีพ ของ รพ.ราชทัณฑ์ กลับระบุว่า เริ่มทำการกู้ชีพบุ้ง เวลา 06.28 น. และย้ายบุ้งออกจากห้องพักผู้ป่วย ชั้น 2 ไปยังไอซียูที่อยู่ชั้น 1 โดยใช้อาสาสมัครเรือนจำช่วยในการเคลื่อนย้าย 4 คน
จากเอกสารทั้งหมดไม่ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลา 06.15-06.28 น. มีการติดเครื่องติดตามสัญญาณชีพ แต่ในเอกสารกลับมีการระบุว่า มีการทำเอกซเรย์ปอด (ไม่ระบุเวลาทำ) และมีการซีทีสแกน ตอนเวลา 07.38 น. ซึ่งทุกการรักษามีการระบุว่ามีการทำ CPR ตลอดเวลา ขณะที่ ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะเข้ามาประเมินอาการ บุ้ง ตอนเวลา 08.00 น. และสั่งให้ประสานงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อส่งรักษาต่อ
นายกฤษฎางค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในเอกสาร 26 แผ่น กลับไม่มีผลการตรวจเอกซเรย์ปอดและผลการทำซีทีสแกนมาร่วมด้วย ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่า มีเหตุจำเป็นอะไรถึงต้องซีทีสแกนและเอกซเรย์ปอด เหตุใดไม่มุ่งไปที่การกู้ชีพ อีกทั้งในเอกสารระบุว่ามีการกู้ชีพตลอดเวลาแต่จากการประเมินจะสามารถกู้ชีพระหว่างการทำซีทีสแกนได้หรือ รวมทั้งบันทึกต่างๆ นั้น ระบุเวลาไม่ตรงกัน ไม่มีบันทึกสัญญาณชีพตั้งแต่หมดสติ จนถึงหอผู้ป่วยไอซียู
นายกฤษฎางค์ ขอส่งคำถามไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า มีการวินิจฉัยโรคจากการอดอาหารเป็นเวลานาน (Refeeding Syndrome) ตั้งแต่เมื่อไหร่ มีการรักษา แก้ไขอย่างไรจนถึงวันก่อนเสียชีวิต เนื่องจาก บุ้ง อาการอยู่ในระดับรุนแรงและควรต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเอกสารที่ได้มามีเพียงการชี้แจงในวันเกิดเหตุเท่านั้น แต่ผลการรักษาก่อนหน้าทั้งหมดไม่ได้ให้มา
นายกฤษฎางค์ ระบุอีกว่า วันศุกร์นี้ (24 พ.ค.) ตนจะเข้าไปเอากล้องวงจรปิดซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญ ว่าเหตุการณ์รักษาบุ้งเป็นอย่างไรในวันเกิดเหตุ และตรงกับเอกสารที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้มาหรือไม่ พร้อมรู้สึกไม่พอใจที่เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) มีการนำสื่อมวลชนเข้าไปดูห้องพักและห้องไอซียูภายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่กลับไม่มีการแจ้งมาทางทีมทนายและครอบครัวของผู้เสียชีวิตให้ทราบ
ส่วนเมื่อถามว่าหากความจริงปรากฏต้องการจะเอาผิดใครหรือไม่ นายกฤษฎางค์ ระบุว่า ไม่ต้องการที่จะเอาผิดใคร แต่ต้องการความจริงและความชัดเจน แต่หากถ้ามีคนผิด ตนก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งความ เพราะเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ทนายกฤษฎางค์ ยังพูดถึงอาการของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองอดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ที่ไปเยี่ยมมาเมื่อวานนี้ว่ามีอาการสุ่มเสี่ยงคล้ายอาการเดียวกับบุ้ง เนื่องจากมีการอดอาหารมาเป็นเวลานานเช่นกัน ตนจึงกำชับทางครอบครัว และผู้คุมให้เฝ้าระวังรวมถึงบอกแพทย์ให้ดูแลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพื่อป้องกันเหตุซ้ำกับบุ้ง รวมถึงตนได้บอกกับ น.ส.ทานตะวัน ว่า อย่าเซ็นเอกสารใดกับทางกรมราชทัณฑ์ เพราะถือว่าตะวันเป็นพยานปากเอกที่อยู่ในที่เกิดเหตุในวันที่บุ้งเสียชีวิต