วานนี้ (21 พ.ค. 2567) เกิดเหตุจากเหตุการณ์ เที่ยวบินเอสคิว 321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ มีการส่งสัญญาณ “squawk code 7700” ต้องทำการเปลี่ยนเส้นทางฉุกเฉินมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยรายงานว่า มีผู้โดยสารบาดเจ็บ 30 คน และเสียชีวิต 1 คน
เปิดไทม์ไลน์ เที่ยวบินระทึก ‘สิงคโปร์แอร์ไลน์’ ตกหลุมอากาศ ลงจอดฉุกเฉินสุวรรณภูมิ
หลังจากเกิดเหตุ ได้มีการสัมภาษณ์ผู้โดยสารหลายคนบนเครื่องบินลำดังกล่าว รวมถึงครอบครัวของผู้โดยสารบางส่วนในอังกฤษ
ผู้โดยสารส่วนใหญ่พูดในทำนองเดียวกันว่า ระหว่างเกิดเหตุการณ์ตกหลุมอากาศนั้น บนเครื่องบินเต็มไปด้วยความโกลาหล ผู้โดยสารบางคนโดนแรงส่งจนตัวลอยขึ้นไปชนเพดานห้องโดยสาร
ก่อนที่เครื่องบินจะลงจอดฉุกเฉินได้สำเร็จที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิราวครึ่งชั่วโมง แอลลิสัน บาร์เคอร์ แม่ชาวอังกฤษคนหนึ่งก็ได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือจาก “จอช” ลูกชายของเธอ ซึ่งอยู่บนเครื่องบินของเที่ยวบินเอสคิว 321 เล่าถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนเครื่อง
ข้อความที่เขาส่งให้เธอเขียนไว้ว่า “ผมไม่อยากทำให้แม่ตกใจกลัว แต่ผมอยู่บนเครื่องบินที่กำลังปั่นป่วนวุ่นวายมาก เครื่องบินกำลังขอลงจอดฉุกเฉิน…ผมรักทุกคนนะ”
บาร์เคอร์ตกใจมาก เธอบอกว่าตัวเองรู้สึก “กลัวจับใจ” ที่ได้เห็นข้อความนั้นและไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายของเธอ ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่เธอได้รับข้อความ จอชก็เงียบหายไปนานถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งเธอบอกว่า “เป็น 2 ชั่วโมงที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของฉัน” เพราะเธอไม่อาจรู้ได้เลยว่าลูกชายของเธอยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า
หลังจากที่ จอชกลับมาติดต่อกับครอบครัวได้อีกครั้ง เขาก็เล่าให้แม่ของเขาฟังว่า ตอนนั้นเขานั่งอยู่ในที่นั่งตัวเองพร้อมกับคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วจู่ ๆ เขาก็วูบไป มารู้ตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองนอนอยู่บนพื้นร่วมกับคนอื่น ๆ อีกหลายคน มีทั้งน้ำ เลือดและข้าวของของผู้โดยสารกระจัดกระจายไปทั่วห้องโดยสาร
จอชได้รับบาดเจ็บหลายจุด รวมทั้งฟันหัก แต่บาร์เคอร์เป็นกังวลเรื่องสภาพจิตใจของลูกชายของเธอมากกว่าบาดแผลทางกาย
แอนดรูว์ เดวีส์ ผู้โดยสารอีกคนที่อยู่บนเครื่องบินลำเดียวกันกับจอช ก็บรรยายสถานการณ์ขณะเกิดเหตุว่า เขาได้ยินเสียงแหลมสูงดังขึ้นอย่างน่าสยดสยองและมีอีกเสียงที่ดังลั่นขึ้นมา ขณะที่เครื่องบินลดระดับลงอย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้น เดวีส์ ก็เล่าว่ามีคนบาดเจ็บหลายคน ส่วนตัวเขาเองก็เข้าไปช่วยผู้โดยสารหญิงอีกคนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวชมเชยว่าทีมลูกเรือของสิงคโปร์แอร์ไลน์สทำงานได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อแก้ไขสถานการณ์และลดความหวาดกลัวของผู้โดยสาร
ซาฟราน อัซมีร์ นักศึกษาหนุ่มซึ่งอยู่ในเที่ยวบินที่เกิดเหตุด้วยเล่าว่า ขณะที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารหลายคนไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้ตัวลอยขึ้นจากที่นั่งในทันทีและชนเข้ากับเพดานห้องโดยสาร
เดวีส์ เองก็ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า เขาจำได้ว่ามีรอยบุ๋มขนาดใหญ่บนเพดานห้องโดยสารของเครื่องบินหลายจุด ซึ่งเป็นรอยที่เกิดจากการที่ศีรษะของผู้โดยสารหลายรายโหม่งเข้ากับเพดานห้อง นอกจากนี้ เขายังมองเห็นขวดน้ำลอยไปติดอยู่ในช่องว่างเล็ก ๆ บนเพดานห้องโดยสารด้วย
ด้านกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกมาเตือนว่า มีแนวโน้มที่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดหลุมอากาศหรือ Air turbulence มากขึ้น ซึ่งจะสามารถตรวจจับได้จากเรดาร์การบิน
นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาในปี 2023 ที่พบว่าหลุมอากาศเหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้นและกินเวลายาวนานมากขึ้นด้วยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเมื่อ 40 ปีก่อน
เครดิตภาพ : AFP