คล้อยหลังเพียงหนึ่งสัปดาห์ หรือ 168 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจกลับลำ 180 องศา จดปากกาเซ็นคำสั่งสํานักนายกรัฐมนตรีที่ 267/2564 ยอมสงบศึกคืนอำนาจ 4 กรมกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย (1) กรมพัฒนาที่ดิน (2) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร (3) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และ (4) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กลับไปให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รับไปดูแลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 100%

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งโอนอำนาจ 4 กรมกระทรวงเกษตรฯ ไปให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กำกับดูแลซึ่งเดิมเป็นงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ

จากนั้นตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาชิกพรรค ปชป. ไล่ตั้งแต่หัวแถว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค, นายฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เลขาธิการพรรค, นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค, นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ และรองหัวหน้าพรรค เข้าแถวหน้ากระดานประกาศไม่พอใจที่ถูกนายกฯ ดึงอำนาจ 4 กรม กลับไปอยู่ภายใต้พรรค พปชร.

“หัวใจของการบริหารรัฐบาลผสมคือความไว้วางใจและการให้เกียรติกันและกัน ถ้าขาด 2 สิ่งนี้ รัฐบาลก็อยู่ยาก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับนโยบายด้านประมง จากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็น พล.อ.ประวิตร โดยไม่มีการปรึกษาหารือก่อน คราวนี้เป็นครั้งที่ 2 ถ้าจะปล่อยไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คงไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร หรือจะอยู่ร่วมกันต่อไปหรือไม่… นายกรัฐมนตรีควรรีบแก้ไขให้ถูกทำนองคลองธรรม ให้เกียรติกันและกัน ทุกอย่างก็จะคลี่คลาย” นายอลงกรณ์ เตือนช่วงหนึ่ง

ทั้งนี้จากการประเมิน สาเหตุสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมกลับลำเซ็นคืนอำนาจ 4 กรมกลับไปให้พรรค ปชป. ดูแลเช่นเดิมมาจาก 3 เหตุผล สำคัญ

(1) เหตุผลข้อแรก การเซ็นคำสั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหากมองเกมการเมืองเพียงชั้นเดียวจะพบการโอนอำนาจ 4 กรมของกระทรวงเกษตรฯ ไปให้พรรค พชปร.ดูแลครั้งนี้ เป็นความเหมาะสม ชอบธรรม เพราะเดิมทั้ง 4 กรม อยู่ในความรับผิดชอบของ พรรค พชปร.อยู่แล้ว

ทว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มองลึกอีกชั้น จะพบเป้าหลักที่ พล.อ.ประวิตร ต้องการดูแล ทั้ง 4 กรม เพื่อให้ “ผู้กองธรรมนัส” เข้าทำหน้าที่ รัฐมนตรีเงา กำกับดูแลงาน ทั้ง 4 กรมเช่นเดิม

ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนใช้ช่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 เขี่ยผู้กองธรรมนัส ออกจากกระดานการเมือง ทำให้ นายกฯ ต้องยอมกลืนน้ำลาย กลับลำยกเลิกคำสั่งที่ตัวเองเซ็น ภายใน 1 สัปดาห์

(2) เหตุผลข้อสอง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการขยายรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ภายหลังพรรค ปชป. ออกมาประกาศท้ารบให้ระวังชะตากรรมรัฐนาวา

พล.อ.ประยุทธ์ รู้ดี นาทีนี้จำเป็นต้องอาศัยเสียงจากพรรค ปชป. ในการผ่านกฎหมายสำคัญในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะกฎหมายการเงิน ที่คาดว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มสำหรับเยียวยาผลกระทบโควิด โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ปูทางล่วงหน้าขยาย เพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี ทำให้มีพื้นที่ทางการคลัง กู้เงินเพิ่มได้ 1.2 ล้านล้านบาท

(3) เหตุผลข้อที่สามคำสั่งโอนอำนาจครั้งนี้สุ่มเสี่ยงขัด พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (2) ที่บัญญัติชัดเจน นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอํานาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกํากับการบริหารราชการในระดับกระทรวงหรือทบวง

ส่วนมาตรา 20 วางหลักให้มีรัฐมนตรีว่าการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในระดับกระทรวง และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้ …ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมอบหมาย

ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ โอนอำนาจ 4 กรมของ กระทรวงเกษตรฯ ไปให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีดูแลเท่ากับเป็นการลัดวงจร ดึงอำนาจ “รัฐมนตรีว่าการ” ไปให้ระดับ “รองนายกรัฐมนตรี” ดูแลหน่วยงานระดับกรม

สุ่มเสี่ยง นำไปสู่การยื่นถอดถอนในอนาคต!

นาทีนี้ วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องพรรค พปชร.ต้องเสนอให้ นายกฯ ตั้ง รมช.เกษตร ฯ ในโควตา พรรค พปชร. เข้ามากำกับทั้ง 4 กรม ของกระทรวงเกษตร

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมกลับลำคืนอำนาจ 4 กรมให้พรรค ปชป.ดูแล แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระรัฐบาลทุกพรรคเริ่มปรับไปใช้กลยุทธ์ ซ่อนดาบในรอยยิ้ม หลอกล่อให้เชื่อใจและพร้อมจ้วงแทงฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความได้เปรียบในสมรภูมิการเมือง!