เมื่อวันที่ 22 พ.ค. น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณสัชรโรจน์ หนึ่งในโฆษกประจำคณะกรรมธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง การเดินทางมาศึกษาดูงาน อังกฤษ-ปารีส ของ กมธ.กิจการศาลฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเรื่อง ข้อกำหนดมาตรฐานการเดินเรือของโลกผ่าน องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เป็นทบวงการชำนาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN specialized agency) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรกลาง ในการกำหนดมาตรฐาน และแนวปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยเราเข้าร่วมเพียงข้อตกลงเพียง 50 ฉบับ เพราะความล่าช้าด้านระเบียบ กฎเกณฑ์ของระบบราชการ และขั้นตอนทางกฎหมาย และสภาใช้เวลาหลายปี ในขณะที่ IMO ใช้หลัก “Tacit Acceptance” ถ้าประเทศสมาชิกไม่ค้านภายใน 2 ปี และสมาชิกเข้าชื่อ 1 ใน 3 (60 จาก 176 ประเทศ) ในการขอคัดค้าน ถือว่าอนุสัญญาได้รับการรับรอง ทำให้ IMO ออกกฎเกณฑ์ได้รวดเร็ว ในขณะที่กฎหมายไทยล่าช้า เราจึงเสียประโยชน์ในหลายเรื่อง

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การดูงานด้านพลังงานก็เป็นสิ่งที่ทาง กมธ.ศาล ให้ความสนใจแนวทาง และร่วมแลกเปลี่ยนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และพลังงานทดแทน ของบริษัทการไฟฟ้าแห่งฝรั่งเศส (Electricité de france S.A .: EDF) ทำให้เห็นว่า การใช้พลังงานนิวเคลียร์มีอัตราส่วนสูงถึง 60% เมื่อเทียบกับพลังงานอื่น และยังเป็นฐานการส่งออกไฟฟ้าให้ประเทศในยุโรปเป็นรายได้เข้าประเทศ ในฝรั่งเศสมีการนำระบบสมาร์ตมิเตอร์ (Smart Meter) ช่วยควบคุมความแม่นยำในการใช้ไฟฟ้า การประมาณการ การปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ตรงกับพื้นที่เป้าหมาย แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี นี่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงการไฟฟ้ารัฐวิสาหกิจของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“การดูงานเพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศ เพราะเราตระหนักว่าภาษีของประชาชนต้องคุ้มค่า พร้อมผลักดันต่อเนื่อง เสนอกฎหมายที่จะขจัดอุปสรรค เพิ่มทางเลือกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว .