ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องสุเทพ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นประธานการประชุมชี้แจงเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีแผนงานโครงการประชุมชี้แจงราษฎร และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีกำหนดให้จัดการประชุม หลักสูตร 1 วัน จำนวน 4 ครั้ง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการ และราษฎรในพื้นที่ชลประทาน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มต่างๆ รับทราบความก้าวหน้า และการดำเนินงานก่อสร้าง สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ประชาชน และเยาวชนรอบๆ พื้นที่โครงการ จึงได้มีการจัดประชุมในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่, ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม, ผู้อำนวยการส่วนบรริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา, ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน, ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน, ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล, ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา, ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้


นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ระบบการผันน้ำข้ามลูกเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริที่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในลุ่มน้ำไหนที่มีปริมาณน้ำมากเกินความต้องการก็สามารถผันน้ำไปให้กับปริมาณน้ำที่ขาดแคลนอยู่ได้ใช้ ตรงนี้เป็นการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่แตงไปลงเขื่อนขนาดใหญ่ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แล้วส่งต่อไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แต่ก็มีการน้อมแนวพระราชดำริอ่างพวงอยู่ในแต่ละเขื่อน แต่ละพื้นที่โครงการ อย่างเขื่อนแม่กวงเมื่อผันน้ำไปแล้ว ถ้าน้ำในเขื่อนมีมากก็จะผันน้ำก็จะผันต่อไปเก็บไว้ในสระน้ำสำรอง ในไร่นาในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้ง เช่นเดียวกับที่เขื่อนแม่งัดหากมีปริมาณน้ำก็จะผันต่อไปให้กับพื้นที่ของแม่แตงด้วย การบริหารจัดการน้ำแบบอ่างพวงตามแนวพระราชดำริ

การประชุมในวันนี้ เป็นการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนแม่งัดส่งต่อไปยังเขื่อนแม่กวง อย่างไร ช่วงเวลาใด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปี และให้ตรงกับแผนการจัดสรรน้ำ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อจะได้แผนที่ทุกๆ ฝ่ายยอมรับ สามารถขับเคลื่อนต่อได้หลังจากโครงการแล้วเสร็จ ใน 4 เวทีนี้ การประชุมวันนี้เป็นเวทีแรก ส่วนเวทีที่ 2-4 จะเป็นการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง ผู้ใช้น้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ตามลำดับ เพื่อให้ทางทีมงานของสำนักงานชลประทานที่ 1 นำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์และจัดทำแผน ซึ่งเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวง ก็จะเป็นจุดรองรับน้ำในแต่ละปลายอุโมงค์ให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขื่อนแม่กวงอุดมธาราเฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอบสนองความต้องการใช้น้ำของราษฎร ให้เกิดเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จำนวน 175,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งจำนวน 59,069 ไร่ ของพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อการอุปโภค-บริโภค สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมปีละ 49.99 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศ บรรเทาปัญหาอุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง ร่วมกันให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด


นอกจากนี้ ในการดำเนินการโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา การนำน้ำจากน้ำแม่แตง ผ่านทางอุโมงค์ส่งน้ำประตูระบายน้ำแม่ตะมาน-เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล-เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จะต้องดำเนินการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำทางด้านท้ายน้ำของลุ่มแม่น้ำแม่แตง และลุ่มแม่น้ำแม่งัด ซึ่งสามารถผันน้ำได้ 113 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี โดยมีการวางแผนการส่งน้ำดังนี้ 1) การส่งน้ำจากน้ำแม่แตง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ดำเนินการในการในช่วงฤดูฝน (ก.ค.-พ.ย.) จะสามารถส่งน้ำได้ในกรณีที่ปริมาณน้ำที่ผ่านประตูระบายน้ำแม่ตะมาน มีมากกว่า 21 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาณน้ำต่ำสุดที่ต้องการของทางด้านท้ายน้ำในด้านการเกษตรและการล่องแพ และ 2) การส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล-อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จะสามารถส่งน้ำได้ตลอดทั้งปี โดยปริมาณน้ำที่ส่งได้ จะเป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับสูงกว่าระดับควบคุมของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางด้านท้ายน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล


สำหรับฤดูฝนนนี้ ในเรื่องของภารกิจหลักของกรรมชลประทาน การสนับสนุนน้ำในกิจกรรมต่างๆ เรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การส่งน้ำเพื่อการเกษตร ได้กำหนดมาตรการนโยบายการจัดสรรน้ำไว้ ภาคการเกษตรจะเน้นให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก แล้วก็มุ่งเน้นที่จะเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงให้มีน้ำเพียงพอ ส่วนน้ำด้านอุปโภคบริโภคในบางช่วงจะเกิดฝนทิ้งช่วง ซึ่งในแม่น้ำปิงจะมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 8 แห่ง ที่สูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิงอาจจะไม่เพียงพอ ได้มีการสำรองน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลทำการระบายน้ำมาช่วยเหลืออยู่แล้ว โควต้าน้ำที่เตรียมไว้ปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. คิดว่าน่าจะเพียงพอ และการจัดการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ มีการเฝ้าระวังโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่มีการระบายน้ำเสียจากชุมชนลงแม่น้ำปิง ก็จะส่งผลกระทบกับคุณภาพน้ำในแม่น้ำปิง ส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง ในส่วนนี้ได้มีการบริหารน้ำโดยให้ผู้ดูแลของประตูระบายน้ำท่าวังตาล ทำการเก็บกักน้ำไว้สำรองเหนืออาคารประตูระบายน้ำ เมื่อคุณภาพน้ำมีผลกระทบกับการใช้น้ำ ก็จะได้ระบายน้ำจากประตูระบายน้ำท่าวังตาลลงไปเจือจางน้ำเสียให้กับน้ำแม่ปิงให้อยู่ในคุณภาพได้มาตรฐาน


ด้านการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ก็ได้มีการประชุมหารือกับทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีแผนในการปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต มีการจัดทำแผน One Map ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ในจุดเสี่ยง และมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบไว้แล้ว สำหรับการเฝ้าระวังพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ที่จะเกิดน้ำหลากจากดอยสุเทพ-ปุย ก็เตรียมบริหารจัดการน้ำสายใหญ่จากลำน้ำแม่แตง ด้วยการพร่องน้ำในช่วงที่คาดหมายว่าจะมีพายุเข้าหรือฝนตกหนักในพื้นที่ เพื่อรองรับในส่วนนี้ที่ไหลมาจากทางห้วยแก้ว ขุนช่างเคี่ยน รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำของห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน รวมถึงประตูระบายน้ำบ้านดอยชัย ที่จะสามารถสูบน้ำเร่งระบายน้ำจากในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ลงแม่น้ำปิง เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมขังเข้าสู่ภาวะปกติ ในส่วนนี้ได้มอบหมายและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนปีนี้ ในช่วงต้นปีมีสภาพร้อนจัด อุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้พยากรณ์ตรงกันว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อยู่ในภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมา จะมีภาวะอากาศรร้อนจัดแล้วก็แห้งแล้ง แล้วในช่วงนี้เดือนพฤษภาคม จะถึงมิถุนายน จะเข้าสู่ช่วงลานีญา ที่จะมีฝนตกมากขึ้น ในพื้นที่ภาคเหนือจะมีเกณฑ์ฝนตกสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยปกติช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน เป็นต้นไป ซึ่งดูจากปริมาณน้ำฝนในช่วงนี้เมื่อเทียบกับการพยากรณ์อากาศจะพบว่าใกล้เคียงกับปี 53 แต่หากเข้าสู่ภาวะลานีญาเต็มตัวช่วงเดือนมิถุนายน ก็จะต้องมีการประเมินสถานการณ์น้ำฝนและติดตามปริมาณน้ำฝนอีกครั้ง ซึ่งอาจจะใกล้เคียงปี 61 หรือปี 65 ที่มีปริมาณฝนค่อนข้างเยอะ จนเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หากพบปริมาณฝนมาก ก็จะได้มีการวางแผนรับมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป