สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่า ป่าดิบแล้งของกัมพูชา เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งอินโดจีนจำนวนมาก แต่กลุ่มนักอนุรักษ์กล่าวว่า การลักลอบล่าเสือโคร่ง และเหยื่อของพวกมัน ทำให้ประชากรเสือโคร่งลดลง จนตกอยู่ในสภาวะสูญพันธุ์โดยปริยายจากกัมพูชา เมื่อปี 2559

เจ้าหน้าที่รัฐของกัมพูชา กล่าวว่า เสือโคร่ง 4 ตัว จากอินเดีย จะถูกส่งไปยังพื้นที่ป่าขนาด 90 เฮกตาร์ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในป่าฝนเทือกเขาบรรทัด เพื่อปรับตัวให้เข้ากับบ้านใหม่ ก่อนที่จะถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ขณะที่ นางเดวยานี โคบรากาเด เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา กล่าวว่า ก่อนการส่งเสือโคร่งข้างต้น อินเดียต้องการทำให้แน่ใจว่า พวกมันมีเหยื่อเพียงพอ และไม่มีการลักลอบล่าสัตว์ในกัมพูชา ซึ่งหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ มันจะเป็นโครงการย้ายเสือโคร่งครั้งประวัติศาสตร์ และเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก

ด้านกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา และกลุ่มอนุรักษ์ “ไวลด์ไลฟ์ อัลไลแอนซ์” (ดับเบิลยูเอ) ระบุว่า พวกเขามีความมั่นใจว่า พื้นที่ดังกล่าวเตรียมพร้อมสำหรับเสือโคร่ง และพวกมันจะถูกติดอุปกรณ์ติดตาม เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ และหมู่บ้านใกล้เคียง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา กล่าวเพิ่มเติมว่า เสือโคร่งอีกหลายตัวจะถูกนำเข้าในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ หากโครงการดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่น

อนึ่ง การตัดไม้ทำลายป่า และการลักลอบล่าสัตว์ ทำให้จำนวนเสือโคร่งทั่วทวีปเอเชียลดลงอย่างมาก โดยกัมพูชา, ลาว และเวียดนาม ต่างสูญเสียประชากรเสือโคร่งประจำถิ่น ขณะที่เมียนมา คาดว่ามีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าเพียง 23 ตัว.

เครดิตภาพ : AFP