สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ว่า ข่าน กล่าวว่า เขากำลังขอให้ไอซีซี ออกหมายจับเนทันยาฮู และกัลลันต์ ในข้อหาต้องสงสัยก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม การประกาศของข่าน จุดชนวนความไม่พอใจอย่างมากให้กับอิสราเอล และประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐ และสหราชอาณาจักร ซึ่งทุกฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข่านเปรียบเทียบอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส

“มันเป็นช่วงเวลาที่ล่อแหลมในระดับสากล และถ้าเราไม่ยึดมั่นต่อกฎหมาย พวกเราจะไม่มีอะไรให้ยึดถือ” ข่าน กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ไทม์ส พร้อมกับเสริมว่า ประเทศต่าง ๆ ในลาตินอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า สถาบันระดับโลกจะพยายามยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

ทั้งนี้ หากผู้พิพากาษาของไอซีซี อนุมัติการออกหมายจับ นั่นหมายความว่าสมาชิกไอซีซี 124 ประเทศ “ควรจับกุม” เนทันยาฮู กัลลันต์ และบรรดาผู้นำกลุ่มฮามาส หากบุคคลเหล่านี้เดินทางไปยังประเทศแห่งนั้น ทว่าศาลไม่มีกลไกในการบังคับใช้หมายจับ

ด้านเนทันยาฮู ประณามความเคลื่อนไหวขอหมายจับ “ด้วยความรังเกียจ” และกล่าวหาว่า ข่านเปรียบเทียบอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นฆาตกรสังหารหมู่ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เน้นย้ำว่า มันไม่มีความเท่าเทียมใด ๆ ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

กระนั้น ข่าน กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์ว่า อิสราเอล ซึ่งมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และศาลฎีกา ไม่มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มฮามาส “อย่างแน่นอน” และอิสราเอลมีสิทธิทุกประการในการปกป้องประชาชน และนำตัวประกันกลับคืน แต่ไม่มีใครในโลก ที่ได้รับอนุญาตให้ก่ออาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ.

เครดิตภาพ : AFP