สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ว่าประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวหลังการพบหารือกับนายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ โกร ผู้นำเบลเยียม ที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน ในข้อตกลงส่งเสริมความร่วมมือเป็นระยะเวลา 10 ปี ว่าเป็นครั้งแรกที่ยูเครนลงนามในข้อตกลง กับประเทศที่ระบุอย่างชัดเจน ว่าจะส่งมอบเครื่องบินเอฟ-16 จำนวน 30 ลำ ให้แก่ยูเครน ภายในปี 2571


ด้านนางฮัดยา ลาห์บิบ รมว.การต่างประเทศเบลเยียม กล่าวว่า การส่งมอบเครื่องบินเอฟ-16 ชุดแรกจากเบลเยียมไปยังยูเครน น่าจะเริ่มขึ้นได้ช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยเกิดขึ้นจนครบตามกำหนด


ทั้งนี้ เดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ ให้คำมั่นกับยูเครนตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่าจะมอบความสนับสนุนเป็นเครื่องบินเอฟ-16 เพื่อเพิ่มศักยภาพครั้งสำคัญให้แก่รัฐบาลเคียฟ ในการทำสงครามกับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม การส่งมอบยังคงไม่เกิดขึ้น


ขณะที่เซเลนสกีเคยกล่าวว่า กองทัพยูเครนต้องการเครื่องบินเอฟ-16 หรือเครื่องบินขับไล่รุ่นอื่นจากตะวันตก “120-130 ลำ” เพื่อให้สามารถต่อสู้กับรัสเซียในสมรภูมิทางอากาศ “ได้อย่างเท่าเทียม”


อีกด้านหนึ่ง นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมอสโกถือว่า เครื่องบินเอฟ-16 “คืออาวุธนิวเคลียร์” และเป็นภัยคุกคาม เนื่องจากเป็นอากาศยานที่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ พร้อมทั้งเตือนว่า การสนับสนุนเช่นนี้มีแต่จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในสมรภูมิยืดเยื้อ และรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น.

เครดิตภาพ : AFP