เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วม นปช. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า 45 ปี 6 ตุลา คารวะจิตวิญญาณ นักศึกษา/ประชาชน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาขึ้นสู่กระแสสูง แทบทุกประเด็นสาธารณะในสังคมไทยล้วนมีบทบาทของนักศึกษาร่วมเรียกร้องต่อสู้และแก้ปัญหา

ขณะที่สถานการณ์ในเวทีโลก ความเข้มข้นของสงครามเย็นเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การโค่นล้มลงของระบอบเก่าในกัมพูชา เวียดนาม และลาว พร้อมกับชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์กำลังสร้างความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่ออำนาจอนุรักษนิยมในสังคมไทย

มีการพูดถึงทฤษฎีโดมิโน และไทยถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นประเทศที่สี่ ที่มีการโค่นล้มเปลี่ยนแปลงโดยพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่? พลังนักศึกษาซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์จึงถูกเชื่อมโยงย้อมสีกับความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกกล่าวหาเป็นขบวนการล้มล้างสถาบัน เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นขบวนการต่างด้าวที่เข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อที่จะทำร้ายทำลายประเทศไทย

มีการใช้กลไกรัฐหลายหน่วยงานเป็นเครื่องมือ มีการจัดตั้งขบวนการประชาชนฝ่ายขวาขึ้นมาเป็นปฏิปักษ์กับขบวนการนักศึกษาโดยตรง และเมื่อถึงเหตุการณ์จอมพลประภาสกลับเข้ามาในประเทศไทย ต่อด้วยจอมพลถนอมบวชเณรกลับมา การต่อต้านของขบวนการนักศึกษาก็ขยายตัวบานปลายจนเกิดการนัดหมายชุมนุมใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 4 ตุลาคม 2519

และจากการปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ทำให้ขบวนการนักศึกษาใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นขบวนการต่างชาติ เป็นขบวนการวายร้าย ในที่สุดจึงเกิดการปราบปรามครั้งใหญ่ตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 5 ตุลาคม ต่อเนื่องกันจนถึง 6 ตุลาคม เกิดการบาดเจ็บล้มตายมากมาย เกิดภาพชีวิตอันโหดร้ายที่ยังคงเป็นรอยแผลเป็นใหญ่ของสังคมไทยจนถึงวันนี้

ในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519 จึงถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในบรรทัดประวัติศาสตร์ประเทศไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยพลังบริสุทธิ์ของประชาชน การจัดงานรำลึก 6 ตุลา19 จึงเป็นวาระสำคัญร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมุดหมายสำคัญในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นที่เกิดเหตุ จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์หน้านี้

ผมรู้สึกประหลาดใจและเจ็บปวดเมื่อทราบข่าวการโต้แย้งกันระหว่างคณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันผู้ต้องการจัดงานรำลึก 6 ตุลา กับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและประชาคมธรรมศาสตร์บางส่วนที่แสดงอาการไม่เต็มใจและคัดค้าน

ทั้งที่เรื่องนี้ควรเป็นสำนึกร่วมกันของชาวธรรมศาสตร์ในทุกขวบปี 6 ตุลา19 ไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องเถียงกันว่าจะจัดที่ไหน แต่ควรเป็นหนึ่งในวิชาเรียนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ศิษย์ทุกรุ่นได้ซึมซับเข้าใจและเติบโตพ้นรั้วมหาวิทยาลัย โดยช่วยกันป้องกันไม่ให้สังคมไทยย้อนกลับมาในประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดแบบเดิม

แต่นอกจากจะไม่เป็นวิชาเรียนแล้ว ดูเหมือนกับว่าคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยพยายามที่จะเบียดบังบรรทัดประวัติศาสตร์นี้ให้มีพื้นที่อย่างจำกัดที่สุด ทั้งที่นี่เป็นเหตุการณ์แรกและเหตุการณ์เดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีการใช้กำลังทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและมวลชนจัดตั้งของรัฐ อาวุธสงครามนานาชนิดบุกเข้าในรั้วมหาวิทยาลัย เข่นฆ่าทำลายชีวิต ทำลายความรู้สึก ทำลายจิตวิญญาณของนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตที่สุด

ธรรมศาสตร์จะสอนให้นักศึกษารักประชาชนได้อย่างไร หากปัจจุบันนักศึกษายังต้องสอนผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคนให้รักประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519

ส่วนข้อสังเกตว่าหลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาผ่านไประยะเวลาหนึ่ง กลุ่มนักศึกษาที่เคยร่วมกันต่อสู้ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยข้ามฟากย้ายข้างไปสนับสนุนและรับใช้ระบอบเผด็จการในสังคมไทยมีตัวตนอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง 15 ปีหลังอย่างมีนัยสำคัญ

คำถามก็คือ นักศึกษาที่กำลังต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ในขณะนี้ อีก 15 หรือ 20 ปี จะกลายเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการอย่างที่รุ่นพี่เดือนตุลาบางกลุ่มทำมาหรือไม่?

ส่วนตัวผมมองเห็นภาพที่แตกต่างกัน ต้องยอมรับว่าขบวนการนักศึกษาที่ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 พวกเขาเติบโตขึ้นในท่ามกลางอิทธิพลของเครือข่ายอนุรักษนิยมและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยที่มีอิทธิพลใหญ่โตหนาแน่น คนหนุ่มสาวที่ต้องการโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิตจำนวนไม่น้อย จำต้องสยบยอมต่อเครือข่ายอนุรักษนิยมและระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้มีสถานะในสังคมและมีอนาคตก้าวเดินต่อไป

ผลิตผลจากขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาจำนวนหนึ่งจึงเข้าไปมีบทบาทในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ในฐานะผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมเพื่อโอกาสและความเติบโตในชีวิต

เราจึงเห็นคนเดือนตุลาบนเวทีพันธมิตรฯ

เราจึงเห็นคนเดือนตุลาบนเวที กปปส.

เราจึงเห็นคนเดือนตุลาในแม่น้ำ 5 สาย และในกลไกรับใช้เผด็จการจำนวนมากมาย

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังคงเห็นคนเดือนตุลาในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับลูกหลายอยู่จนเวลานี้

แต่กับหนุ่มสาวยุคปัจจุบันจะไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาเติบโตขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีอย่างไม่จำกัด สังคมนี้จะไม่อนุญาตให้ใครจะเป็นผู้ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม “ปลอม” อยู่ได้นาน

และหนุ่มสาวยุคปัจจุบันจะไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องพินอบพิเทาวิ่งเต้นเส้นสายกับความปลอมใด ๆ พวกเขามีช่องทางมากมายที่จะสร้างความเติบโตเข้มแข็งกับชีวิต แล้วยิ่งเวลาเดินไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าความคิดแบบนี้จะมีแต่เข้มแข็งมากขึ้น

หนุ่มสาวที่ผ่านการต่อสู้ในปัจจุบันอาจมีบางส่วนที่สยบยอมต่อเครือข่ายของอำนาจเดิม แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นเช่นนั้น พลังบริสุทธิ์นี้จะเติบโตและยังคงเข้มแข็งในหลักการที่ถูกต้องต่อไป กลไกอนุรักษนิยมต่างหากที่จะถูกตัดพื้นที่ให้หดแคบลง

การรำลึก 45 ปี 6 ตุลา จึงมากด้วยความหมาย ไม่ใช่แค่เรื่องของการเอาคนเก่า ๆ มานั่งจัดงานพบกัน แต่หมายถึงการเชื่อมต่อในทางอุดมการณ์ การยืนยันการต่อสู้ และการส่งมอบภารกิจจากรุ่นสู่รุ่นด้วยความหวังให้คนหนุ่มสาวเดินหน้าต่อไป

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ยืนอยู่ท่ามกลางการล้อมปราบโดยรัฐ ผมขอคารวะทุกดวงวิญญาณของ “คนเดือนตุลา” ผู้สูญเสีย และเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวและญาติมิตรในการยืนหยัดสู้ต่อไป รวมกระทั่งขอแสดงความชื่นชมด้วยหัวใจกับขบวนการนิสิตนักศึกษาคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาสืบสานภารกิจของ “คนเดือนตุลา” และเป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ประชาชนผู้สูญเสียไม่ได้รำลึกเพื่อเตือนใจตัวเอง เพราะเราไม่เคยลืม แต่เรารำลึกเพื่อบอกกับผู้มีอำนาจว่าเราไม่ยอมแพ้ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราจะสู้ต่อไป

การรำลึกอดีตต่อสาธารณะทำได้เฉพาะฝ่ายที่ชอบธรรมเท่านั้นนะครับ เราไม่เคยเห็นการรำลึกของรัฐผู้ปราบปรามประชาชน ไม่ว่าจะจากเหตุการณ์ใดก็ตามในสังคมไทยและในสังคมโลก

นอกจากนี้นายณัฐวุฒิ กล่าวระหว่างการ ร่วมกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา 2519 เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงแนวทางการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในอนาคตว่า หากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายมากขึ้น คงจะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมขนาดใหญ่