ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสมุทรสามัคคี อบจ.สมุทรสงคราม นายสมฤทธิ์ วงษ์สวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับ จ.สมุทรสงคราม พ.ศ. 2567-2570 และ ร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ภายใต้การขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมระดับชาติโดยมีเกษตรกรและสมาชิกองค์กรเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 100 คน
โดยนางณริภา ระย้าแก้ว หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดเวทีดังกล่าว สรุปว่า พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 41 บัญญัติว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติจะต้องจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัด และให้สภาเกษตรกรจังหวัดเสนอแผนดังกล่าวต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อบูรณาการเป็นแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นทบทวนแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดก่อน เพื่อให้เกษตรกรได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์ หาทางออกการแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการแก้ไขตอบสนองความต้องการที่จะพัฒนาภาคการเกษตรได้ด้วยตนเอง
จากนั้น นายสมฤทธิ์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกร และประโยชน์ของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างแผนพัฒนาครั้งนี้ ประกอบกับสำนักงานสภาเกษตรกรฯ ได้จัดเก็บแบบสำรวจเพื่อรับฟังความคิดเห็นจำนวน 400 ชุดจากเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ และการปรับปรุงข้อมูลการเกษตรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และได้ร่างแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัด พ.ศ. 2567–2570 (ฉบับทบทวนและปรับปรุง) เพื่อให้แผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดมีความครบถ้วนสมบูรณ์และตรงกับความต้องการของพี่น้องเกษตรกร
นอกจากนี้นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม ยังได้พบปะพูดคุยกับเกษตรกร และกล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดมีงบประมาณพัฒนาด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องและยินดีสนับสนุนทุกทาง รู้สึกดีใจที่มีการจัดเวทีเพื่อทบทวนแผนครั้งนี้และขอให้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนเพื่อแผนงานจะได้บรรลุผลเป็นรูปธรรม เนื่องจาก จ.สมุทรสงคราม เปรียบเหมือนเป็นเวนิสตะวันออก มีความพร้อมด้านภูมิประเทศดี แต่เกษตรกรยังขาดพลังในการต่อรองจึงเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรเกษตรกรจะสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาด เพื่อสร้างเป้าหมายผลิตภัณฑ์การเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีการรับรองและกำหนดราคาเองได้ นอกจากนี้ยังขอให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนเพื่อสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับอีกด้วย
จากนั้นได้มีการนำเสนอร่างแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัด มีการวิเคราะห์จุดแข็ง เช่น เป็นเมือง 3 น้ำที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพเกษตรและประมง, เป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์, สภาพพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกไม้ผล ทำให้ผลไม้รสชาติดี, มีมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร, มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลากหลาย
ส่วนจุดอ่อน เช่น ค่าแรงงานภาคการเกษตรสูง, ไม่มีศูนย์กลางตลาดผักและผลไม้ในจังหวัด, เกษตรกรไม่สามารถทกำหนดราคาผลผลิตได้เอง, มีแมลงศัตรูพืชระบาด, อาชีพด้านการเกษตรไม่มีความมั่นคงและไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ ขาดความยั่งยืนในอาชีพและขาดการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองด้านราคาผลผลิต เป็นต้น
ส่วนอุปสรรคคือการนำเข้าและการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศตกต่ำ, สภาพภูมิอากาศของไทยมีการแปรปรวนทั้งเรื่องน้ำใช้ในการเกษตร ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และภาวะโลกร้อนขัดขวางการทำการเกษตรของเกษตรกร, ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง และปัญหาน้ำเสีย เกิดจากการปล่อยน้ำลงคู คลอง และจากจังหวัดใกล้เคียงส่งผลกระทบต่อชาวประมงชายฝั่ง
จากนั้นได้แบ่งเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่มคือ อ.เมือง อ.อัมพวา และ อ.บางคนที แสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาเกษตรกรรม จัดลำดับความสำคัญปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ เช่น 1.ด้านวัชพืช ศัตรูพืช โดยเฉพาะแมลงดำหนามที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโดยเน้นขอรับการสนับสนุนชีวภัณฑ์และความรู้เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช 2.ปัญหาน้ำเสีย และน้ำชลประทานไม่เพียงพอ รวมทั้งปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร 3.ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาผลผลิตการเกษตร ต้องการให้เกิดตลาดกลางและสร้างโอกาสจำหน่ายสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้น 4.ปลาหมอสีคางดำแพร่ระบาด และเป็นสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชี่ส์ที่สร้างผลกระทบให้ระบบนิเวศ โดยต้องการให้มีการยับยั้งการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำอย่างเร่งด่วน เป็นต้น
สภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม จะนำข้อคิดเห็นที่ได้รับจากเวทีครั้งนี้ไปปรับปรุงและเพิ่มเติมในร่างแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดและร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมระดับชาติแล้วเสนอให้สภาเกษตรกรแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป