สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ว่าโออีซีดีรายงานว่า ประเทศที่ร่ำรวยบรรลุเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพอากาศประจำปี มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) แก่ประเทศยากจน เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 แม้จะช้ากว่าที่ตกลงกันไว้ถึง 2 ปีก็ตาม

ความล้มเหลวในการระดมเงินตรงเวลา ได้ทำลายความไว้วางใจในการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ และโออีซีดีเผยแพร่รายงานระหว่างประเทศต่าง ๆ แข่งขันกัน เพื่อตั้งเป้าหมายอย่างทะเยอทะยานมากขึ้น ภายในเดือน พ.ย. นี้

เมื่อปี 2552 ประเทศที่พัฒนาแล้วให้คำมั่น ว่าจะระดมทุน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อช่วยให้ประเทศมีรายได้น้อยลงทุนในพลังงานสะอาด และรับมือกับผลกระทบที่เลวร้ายลง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกกว่า 1 ทศวรรษต่อมา ประเทศร่ำรวยบรรลุเป้าหมายเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 โดยระดมทุนได้ 115,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4 ล้านล้านบาท) “ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นช้ากว่าเป้าหมายถึง 2 ปี” โออีซีดีกล่าว อย่างไรก็ตาม เป้าหมาย 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ไม่ใกล้เคียงกับที่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้มาตรการด้านพลังงานทดแทน และการปรับตัว เช่น การป้องกันชายฝั่งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

คณะผู้พิจารณาโดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประมาณการว่าประเทศเหล่านี้ (ไม่รวมจีน) จะต้องการเงินรวมกัน 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 88 ล้านล้านบาท) ต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสภาพอากาศและการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ผู้บริจาคยังถูกกล่าวหาว่า นำเงินช่วยเหลือที่มีอยู่มาระดมทุน ส่งผลให้เงินทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเงินกู้ มิใช่เงินช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้ เงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหายุ่งยากในการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศประจำปีของยูเอ็น และผู้เจรจากำลังพยายามอีกครั้งในปีนี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายใหม่ และไปให้ไกลกว่าเป้าหมาย 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท)

เจ้าภาพที่ประชุมด้านสภาพอากาศระดับโลก ‘คอป29’ ในปีนี้ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับแรก และคาดหวังว่า จะมีการลงนามในข้อตกลงครั้งใหม่ระหว่างการประชุมสุดยอด ในเดือน พ.ย. นี้.

เครดิตภาพ : AFP