สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่า เกษตรกรสหรัฐจะสามารถนำนมจำนวนมากที่มาจากวัวหลายตัว บรรจุใส่ถังเพื่อทดสอบหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ จากที่เคยต้องทำการตรวจจากวัวครั้งละตัว เพื่อขอรับการอนุมัติก่อนเคลื่อนย้ายวัวข้ามรัฐ เพื่อขยายผลการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก เอช5เอ็น1
มาตรการที่เปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าว เพื่อช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร หลังจากที่ไวรัสไข้หวัดนกแพร่กระจายไปยังวัวและคนงานในฟาร์มโคนมอย่างน้อย 3 คน ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์บางคนเตือนว่า การทดสอบเป็นกลุ่มอาจไม่เพียงพอ
เมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐกำหนดให้โคนมที่จะถูกขนย้ายข้ามรัฐ ต้องมีผลการทดสอบเชื้อไข้หวัดนกเป็นลบเท่านั้น และในเวลาต่อมา พวกเขาพบว่าคำสั่งดังกล่าวช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปยังรัฐใหม่ ๆ ได้ กระทรวงเกษตรสหรัฐรายงานว่า มีการทดสอบโคนมก่อนเคลื่อนย้ายแล้ว 2,492 ครั้ง อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวไม่เท่ากับจำนวนโคที่ถูกทดสอบ
US allows bulk milk testing for bird flu before cattle transport https://t.co/BcQANj90Af
— ST Foreign Desk (@STForeignDesk) May 31, 2024
นายเอริก ดีเบิล รักษาการที่ปรึกษาอาวุโสด้านไข้หวัดนกของกระทรวงเกษตรสหรัฐ กล่าวว่า โครงการนำร่องทดสอบนมในปริมาณมาก มีเป้าหมายเพื่อแบ่งเบาภาระของกระบวนการการตรวจโรคโคนม ก่อนการเคลื่อนย้าย และลดการแพร่กระจายของไวรัส
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า อาจพบสัตว์ซึ่งมีผลการทดสอบเป็นบวกเพิ่มขึ้น เพราะการดำเนินโครงการอาสาสมัคร และการสนับสนุนให้มีการตรวจโรคมากขึ้น แต่ “โครงการนี้ไม่ได้มีเพื่อลดหย่อนข้อบังคับ” เขากล่าว ด้านเจ้าหน้าที่การเกษตรใน 6 รัฐ กล่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่าพวกเขากำลังทบทวนโครงการดังกล่าวของยูเอสดีเอ
ขณะนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐยืนยัน การพบไวรัสเอช5เอ็น1 ในโคนมจาก 9 รัฐ ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ประเมินว่าร้อยละ 20 ของปริมาณนมในสหรัฐ มีร่องรอยของเชื้อไข้หวัดนก และมีข้อบ่งชี้ว่า มีแนวโน้มแพร่กระจายในวงกว้าง
“เมื่อได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากฟาร์ม โครงการนี้จะสามารถช่วยลดภัยคุกคามของเชื้อเอช5เอ็น1 ในฝูงโคนม, ลดความเสี่ยงของคนงานในฟาร์ม และปกป้องการผลิตนมของประเทศของเราต่อไป” สมาคมอาหารผลิตภัณฑ์นมนานาชาติกล่าวในแถลงการณ์
ขณะเดียวกัน เกษตรกรมองว่า การทดสอบนมจากถังเก็บขนาดใหญ่ ช่วยให้มีโอกาสในการเก็บตัวอย่างจากวัวทุกตัวในฝูงในครั้งเดียว และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการทดสอบตัวอย่างจากวัวแต่ละตัว ภายใต้โครงการใหม่ ฟาร์มซึ่งมีฝูงวัวที่มีผลการทดสอบเป็นลบเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน จากการตรวจด้วยตัวอย่างนมจากถังขนาดใหญ่ จะสามารถเคลื่อนย้ายวัวได้ โดยไม่ต้องมีการทดสอบก่อนการเคลื่อนย้ายข้ามรัฐ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจำเป็นต้องส่งตัวอย่างนมจากถังขนาดใหญ่ทุกสัปดาห์ เพื่อรักษาสถานะของตน
หากมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในจำนวนที่มากพอ รัฐบาลสหรัฐมองว่า อาจช่วยสร้างสังคมที่ปลอดโรคไข้หวัดนกได้ แต่หากฝูงสัตว์มีพบผลบวกระหว่างโครงการทดสอบ จะจัดให้มีการสอบสวนทางระบาดวิทยา และประเมินการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ โปรแกรมตรวจโรคจะเป็นประโยชน์ต่อโรงรีดนมขนาดใหญ่ ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามรัฐ
ในทางกลับกัน นางเกล แฮนเซน ที่ปรึกษาด้านสัตวแพทย์และสาธารณสุข แย้งว่า การทดสอบนมจากถังขนาดใหญ่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ อาจไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าฝูงสัตว์ปลอดจากไข้หวัดนก กล่าวคือ เมื่อนมของพวกมันถูกผสมรวมกันอยู่ในถัง ตัวอย่างจากนมวัวสุขภาพดีอาจเจือจางตัวอย่างของวัวที่ติดเชื้อ “มันอาจทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกมั่นใจแบบผิด ๆ”
ในการนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐกำลังสำรวจรัฐที่ต้องการเข้าร่วมในโครงการนำร่อง โดยรัฐมิชิแกน ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อไข้หวัดนกในโคนมมากที่สุด แสดงความสนใจในโครงการดังกล่าว นายทิม โบริง ผู้อำนวยการสำนักงานเกษตรและการพัฒนาชนบทของรัฐมิชิแกน กล่าวว่า เนื่องจากคนงานซึ่งติดเชื้อ 2 ราย ทำงานอยู่ในฟาร์มที่รัฐมิชิแกน “มาตรการป้องกันขั้นพื้นฐานประการหนึ่งคือการจำกัดการเคลื่อนย้ายสัตว์” โบริงกล่าว “สิ่งสุดท้ายที่เราอยากทำคือ การเคลื่อนย้ายวัวป่วยไปรอบฟาร์มต่าง ๆ และด้วยเหตุนี้ โรคจึงแพร่กระจายต่อไป”.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES