“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ แต่ฟื้นตัวกลับมาบางส่วน หลังแรงหนุนของเงินดอลลาร์ ชะลอลงตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด
เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติในช่วงกลางสัปดาห์ การย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก และการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียบางส่วน
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ ยังแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหนุนมุมมองของตลาดว่า เฟดอาจยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี แรงหนุนของเงินดอลลาร์ ชะลอลงบางส่วน หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ประกอบกับน่าจะมีแรงขายเพื่อปรับโพสิชันก่อนตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ที่คำนวณจาก PCE/Core Price Indices
ในวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 11,765 ล้านบาท และ 1,494 ล้านบาท ตามลำดับ
สัปดาห์ถัดไป (3-7 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.50-37.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและผลการประชุม ECB
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือน พ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน เดือน เม.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือน พ.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน