สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ว่าสำนักงานคณะเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์ ว่าเกาหลีเหนือส่งบอลลูนราว 600 ลูก ที่มีการผูกถุงขยะและสิ่งปฏิกูล ลอยข้ามพรมแดนมายังเกาหลีใต้ ตั้งแต่คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา จนถึงช่วงสายของวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น โดยความถี่ของการปล่อยบอลลูนจากฝั่งเหนือ อยู่ที่ประมาณ 20-50 ลูกต่อชั่วโมง
(2nd LD) N. Korea sends some 600 more trash-carrying balloons to S. Korea, continues GPS jamming for 5 days https://t.co/OJLNozmvzY
— Yonhap News Agency (@YonhapNews) June 2, 2024
ทั้งนี้ บอลลูนส่วนใหญ่ตกบริเวณพื้นที่ทางเหนือของเกาหลีใต้ รวมถึงจังหวัดคย็องกี และกรุงโซล โดยเทศบาลกรุงโซลส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวัตถุน่าสงสัย และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เมื่อพบเห็นวัตถุแปลกปลอมใดก็ตาม
S. Korea strongly warns N. Korea over its recent provocations#NorthKorea #military_provocation #Anti_South_leaflets #KoreanPeninsula #ballistic_missiles #군사도발 #북한 #Arirang_News #아리랑뉴스 pic.twitter.com/OFO5TWFAM5
— Arirang News (@arirangtvnews) May 31, 2024
อนึ่ง สำนักงานคณะเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้เพิ่งแจ้งเตือนประชาชน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ด้วยการอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ เกี่ยวกับกระแสลมทิศเหนือซึ่งจะแรงขึ้นในระยะนี้ นับตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองจึงวิเคราะห์ ว่ามีความเป็นไปได้ ที่เกาหลีเหนือจะส่งบอลลูนผูกถุงขยะและสิ่งปฏิกูล ให้ลอยข้ามเขตแดนมาอีก หลังมีการส่งมาแล้วประมาณ 260 ลูก ระหว่างคืนวันอังคารถึงช่วงรุ่งสางของวันพุธที่ผ่านมา
ด้านนายชิน วอน-ซิก รมว.กลาโหมเกาหลีใต้ กล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือยังคงส่งบอลลูนขยะลักษณะนี้ เป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง เพื่อสงบศึกสงครามเกาหลี ที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน เมื่อปี 2496
ขณะที่ น.ส.คิม โย-จอง น้องสาวของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ยืนยันว่า รัฐบาลเปียงยางจัดการส่งบอลลูน นำ “ของเสียและขยะจำนวนมาก” ลอยข้ามฝั่งไปยังเกาหลีใต้จริง เพื่อตอบโต้ที่เกาหลีใต้ยังคงปล่อยให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ ยังคงส่งบอลลูนบรรทุกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ ให้ลอยข้ามพรมแดนมายังเกาหลีเหนืออยู่เป็นระยะ ทั้งที่สภานิติบัญญัติเกาหลีใต้บัญญัติกฎหมายห้าม เมื่อปี 2564.
เครดิตภาพ : AFP