จากกรณีตำรวจและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ,กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานบริษัทเอกอุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และโกดังเก็บสารเคมีอันตรายในพื้นที่ อ.อุทัย และ อ.ภาชี หลังโดนลอบวางเพลิง พบว่าที่บริษัทเอกอุทัย ได้ลอบขุดบ่อนำสารพิษฝังกลบซุกซ่อน จนทำให้สารเคมีซึมลงไปในดินชั้นลึกถึงน้ำบาดาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าทุกโรงงาน เกี่ยวข้อเชื่อมโยงกัน ลอบนำสารพิษไปทิ้งตามไร่นาที่ดินชาวบ้าน รวมทั้งในป่าสงวนแห่งชาติในหลายพื้นที่ เช่น จ.นครราชสีมา ,เพชรบูรณ์ ,ระยอง ,พระนครศรีอยุธยา และ จ.ชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดเจ้าของโรงงานเพิ่มทั้งแพ่ง-อาญา-พ.ร.บ.โรงงานฯ รวมทั้งเจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเอี่ยว พร้อมส่งตัวอย่างน้ำบาดาลไปตรวจสอบหาสารพิษ ตามที่เสนอข่าวให้ทราบนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นางวาสนา สาทถาพร ผอ.สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลบริเวณโรงงานบริษัทวิน โพรเสส จำกัด จ.ระยอง ว่า กรณีที่ จ.ระยอง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เก็บตัวอย่างน้ำบาดาล ส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบ คาดว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างเป็นทางการ จะออกมาภายในสัปดาห์นี้
นางวาสนา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล เบื้องต้นพบว่ามีค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า (EC) ค่อนข้างสูง ซึ่งบ่งบอกว่าน้ำบาดาลในบริเวณดังกล่าว มีค่าสารละลายโลหะสูง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นสารอะไรบ้าง ส่วนโรงงานในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังไม่ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลมาตรวจวิเคราะห์ โดยอยู่ระหว่างรอดูผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อได้ผลการตรวจวิเคราะห์น้ำผิวดินออกมาแล้ว จึงจะประเมินว่าจะมีผลกับน้ำบาดาลด้วยหรือไม่
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า วันที่ 5 มิ.ย.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการประชุมการติดตามความคืบหน้า การดำเนินการกรณีเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายเอกภัทร วังสุวรรณ เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณา เช่น การเร่งรัดดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรม (สารเคมี) ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ,การร่างการกำหนดขอบเขตหน้าที่ และแนวทางการใช้อำนาจของศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินฯ เพื่อการปฏิบัติอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น รวมถึงร่างแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น หากกรณีไหนที่เกินกำหนดหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไข อาจมีการฟ้องร้องเพิ่มเติมได้.