เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 67 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่อุทยานแห่งชาติไทย ถูกเลือกให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ดังระดับโลก เพราะนอกจากจะทำให้สถานที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย เป็นที่รู้จักของต่างประเทศ ยังส่งผลที่ดีต่อการท่องเที่ยวในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนรอบแนวเขตอุทยาน และการท่องเที่ยวภายในจังหวัดนั้นด้วย นอกจากนี้ได้กำชับให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องไม่กระทบและเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีหนังสือแจ้งมายังกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ได้อนุญาตให้ SAGA Productions Limited สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ สร้างภาพยนตร์เรื่อง “SAGA” ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-16 ก.ค. 2567 ระบุสถานที่ถ่ายทำประกอบด้วย กทม. พังงา กระบี่ ภูเก็ต และตรัง”
สำหรับกรณีดังกล่าวข้างต้น บริษัท เปสตัน ฟิลม์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ได้ยื่นขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง คือ บริเวณหาดซันเซท เกาะกระดาน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เป็นระยะเวลา 5 วัน บริเวณน้ำตกห้วยโต้ อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่ ระยะเวลา 3 วัน และบริเวณเขาตาปู เกาะสองพี่น้อง เกาะนากายะ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา ระยะเวลา 5 วัน โดยมีการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์และวางหลักประกันความเสียหายระหว่างถ่ายทำตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
นายอรรถพล กล่าวว่า จากการพิจารณาการเข้าถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว ซึ่งผ่านคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มาแล้วว่ามีเนื้อหาและรูปแบบที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาในการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตต้องไม่มีการปิดกั้นพื้นที่การถ่ายทำ มีการควบคุมเรื่องเสียง อุปกรณ์และเทคนิคต่างๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือรบกวนสัตว์ป่า ในการสร้างฉาก จัดแต่งสภาพพื้นที่จะต้องไม่มีการขุดเจาะ หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ถ่ายทำและสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิม ให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่รบกวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเที่ยวชมธรรมชาติ รวมถึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขและการควบคุมที่กำหนดอื่นๆ โดยให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งเป็นผู้แทนในการกำกับดูแลการถ่ายทำให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดอย่างเคร่งครัด.