สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ว่า นพ.เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) แถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่าวัคซีนต้านโรคมาลาเรีย ซึ่งมีชื่อสามัญว่า "อาร์ทีเอส,เอส" ( RTS,S ) และมีชื่อทางการค้าว่า "มอสควิริกซ์" ( Mosquirix ) "มีประสิทธิภาพเพียงพอ" ที่จะใช้เป็นวงกว้าง เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย ให้กับเด็กในทวีปแอฟริกา ควบคู่ไปกับกลไกป้องกันด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ วัคซีนมอสควิริกซ์ เป็นวัคซีนแบบโปรตีนซับยูนิต พัฒนาและผลิตโดยบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ของสหราชอาณาจักร ร่วมกับสถาบันวิจัยทางการแพทย์ วอลเทอร์ รีด ของสหรัฐ เมื่อปี 2530 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วัคซีนมอสควิริกซ์เป็นวัคซีนที่ดับเบิลยูเอชโอใช้เป็นวัคซีนนำร่อง ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่กลุ่มเป้าหมาย คือเด็กในทวีปแอฟริกา 

แต่นิยามของคำว่า "ประสิทธิภาพ" ของวัคซีนตัวนี้ยังคงเป็นคำถาม เนื่องจากผลการทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม ปรากฏว่า วัคซีนดังกล่าวซึ่งต้องฉีดมากถึง 4 เข็ม มีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเสียชีวิตประมาณ 30% และระดับภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง หลังฉีดครบคอร์สไปแล้ว 4 เดือน
อย่างไรก็ตาม นพ.อเลฮันโดร คราวิโอโต หัวหน้าฝ่ายวัคซีนของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย "เป็นงานช้าง" และเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างมาก จากการที่โรคนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัว และมีพาหะคือยุงก้นปล่องเพศเมีย ขณะที่นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เด็กในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดของโรคมาลาเรีย เข้าถึงวัคซีนมอสควิริกซ์แล้วมากกว่า 2.3 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในกานา เคนยา และมาลาวี
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ศ.เอเดรียน ฮิลล์ นักวัคซีนวิทยาชาวไอริช ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหลายชนิด รวมถึงโควิด-19 รายงานการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน "เมทริกซ์-เอ็ม" ซึ่งเป็นวัคซีนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดพัฒนา เพื่อใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย กับกลุ่มตัวอย่างเป็นทารก 450 คน ในบูร์กินาฟาโซ ได้รับวัคซีนเมื่อปี 2562 และมีการติดตามผลในอีก 12 เดือนหลังจากนั้น ปรากฏว่า มีประสิทธิภาพโดยรวม 77% 
เมทริกซ์-เอ็ม จึงนับเป็นวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียรายการแรก ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของดับเบิลยูเอชโอ ที่กำหนดเป้าหมายให้โลกต้องมีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 75% ภายในปี 2573 ทว่าเพื่อให้ได้ผลที่ละเอียดมากขึ้น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกำลังนำวัคซีนเมทริกซ์-เอ็ม เข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม.

เครดิตภาพ : AP