สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่า สถาบันแรงงาน สังกัดสมาพันธ์สหภาพการค้าแห่งเกาหลี เผยแพร่รายงานว่า ครัวเรือนชาวเกาหลีใต้ ซึ่งมีอายุ 20-29 ปี ต้องใช้เวลาเก็บเงินนานถึง 86.4 ปี เพื่อซื้ออพาร์ตเมนต์ในกรุงโซล เมื่อปี 2566 ซึ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับสถิติของปี 2557 ที่ประเมินว่าต้องใช้เวลาเก็บเงิน 39.5 ปี
แม้รายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนในช่วงอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้น 21.02% จาก 34.07 ล้านวอน (ราว 920,000 บาท) เมื่อปี 2557 เป็น 41.23 ล้านวอน (ราว 1.11 ล้านบาท) เมื่อปี 2566 ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าการเติบโตที่ระดับ 45.17% ของรายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 45.68 ล้านวอน (ราว 1.23 ล้านบาท) เป็น 67.62 ล้านวอน (ราว 1.82 ล้านบาท)
ขณะที่เงินเก็บเฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงอายุ 20-29 ปี หลังหักรายจ่าย ซึ่งเป็นการบริโภคและไม่ใช่การบริโภคจากรายได้ทั้งปี เพิ่มขึ้น 12.65% จาก 12.33 ล้านวอน (ราว 332,000 บาท) เมื่อปี 2557 เป็น 13.89 ล้านวอน (ราว 375,000 บาท) เมื่อปี 2566 ส่วนเงินเก็บของครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้น 64.9% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สถาบันแรงงานวิเคราะห์ว่า การพุ่งขึ้นของราคาบ้านที่อยู่อาศัย ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่ครัวเรือนรุ่นใหม่จะสามารถซื้อบ้านในกรุงโซลเป็นของตัวเอง โดยราคาเฉลี่ยของอพาร์ตเมนต์ในกรุงโซลอยู่ที่ 1,200 ล้านวอน (ราว 32.4 ล้านบาท) เมื่อปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 487.2 ล้านวอน (ราว 13.15 ล้านบาท) เมื่อปี 2557.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES