เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรกับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,243 คน (สำรวจทางภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-2 มิ.ย. 2567 ซึ่งพบว่าประชาชน 76.51 เปอร์เซ็นต์ รู้ว่าตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลมีโครงการ “เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” เดือนละ 600 บาท ให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนอายุครบ 6 ปี อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แต่ 23.49 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าไม่รู้ นอกจากนี้ ประชาชน 74.74 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่านโยบายนี้มีผลช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตร ขณะที่ 63.23 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าส่งผลให้เด็กแรกเกิดได้รับการดูแลที่ดีขึ้น และ 41.19 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ส่งผลให้เด็กและครอบครัวสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐได้มากขึ้น
สำหรับจำนวนเงินอุดหนุนจากรัฐบาลควรเป็นเท่าใดต่อเดือน เพื่อให้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดนั้น พบว่าประชาชน 43.2 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าควรเป็น 1,000-3,000 บาท ขณะที่ 29.44 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าควรมากกว่า 3,000 บาท แต่ 23.17 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าควรมากกว่า 600 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 บาท และ 4.19 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเงินอุดหนุนฯ 600 บาทเหมาะสมแล้ว เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่หากรัฐบาลจะขยายให้ทุกครอบครัวที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนอายุครบ 6 ปี ได้รับเงินอุดหนุนโดยไม่ต้องพิสูจน์รายได้ พบว่าประชาชน 81.01 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเห็นด้วย แต่ 18.99 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเด็กในครอบครัวที่มีฐานะไม่ควรได้, เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศมากเกินไป, ครอบครัวควรพึ่งพาตัวเอง ควรมีลูกเมื่อพร้อม, มีนโยบายอื่นที่สำคัญกว่า
ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลควรให้เงินอุดหนุนแก่ทุกครอบครัวที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนอายุครบ 6 ปี โดยไม่ต้องพิสูจน์รายได้นั้น พบว่าประชาชน 74.09 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรในช่วงวัยเด็กซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขณะที่ 52.53 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อย และ 49.32 เปอร์เซ็นต์ มองว่าเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับเรื่องที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดนั้น ประชาชน 66.85 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าอยากให้เพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด แต่ 57.92 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าอยากให้เพิ่มเงินอุดหนุนให้ครอบครัวยากจนหรือมีคนพิการ ขณะที่ 46.1 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรจะได้เงินอุดหนุนด้วย ส่วน 43.2 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าอยากให้ปรับปรุงบริการต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวกับเด็กให้เข้าถึงสะดวกมากขึ้น และ 41.03 เปอร์เซ็นต์ อยากให้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนตั้งแต่ตั้งครรภ์