ท่ามกลางสัญญาณทางการเมืองหลายๆ อย่าง ที่ถูกมองว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเดินไปสู่ปลายทางการยุบสภา ซึ่งจะเป็นการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ภายใต้กติกาเลือกตั้งที่ถูกปรับเปลี่ยนจาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อจับชีพจรการเมืองและการเลือกตั้ง ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

โดย “อดีต กกต.สมชัย” เปิดฉาก เริ่มต้นด้วยการจับสัญญาณการยุบสภา ว่า ปัจจัยที่จะนำไปสู่การยุบสภา ปัจจัยที่สำคัญคือ 1.รัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงในสภาได้ การลงมติกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอมา ไม่สามารถได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ ก็จะเป็นเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องตัดสินใจ ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

แต่การยุบสภาดังกล่าวต้องอยู่ในจังหวะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่า ตัวเองพร้อมและมีความได้เปรียบ คือ ยุบแล้วต้องมั่นใจว่า พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อตัวเองเป็นนายกฯ หรือหากไม่มั่นใจก็ต้องมีพรรคสำรองที่เตรียมไว้ และ 2. การเตรียมความพร้อมพรรคสำรองดังกล่าว ต้องมีความเข้มแข็งพอสมควรที่จะชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้

“หากมองในจังหวะดังกล่าว ผมเชื่อว่าในเดือน ต.ค.ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะสภายังไม่เปิด แต่หากช่วงเดือน พ.ย. ที่สภาเปิดแล้วอาการของปัญหาต่างๆ จะทยอยเป็นปรากฏการณ์ให้เห็น และอาจจะรุนแรงจนอาจอยู่กันไม่ได้คือช่วงเดือน ธ.ค. 2564 ถึง ม.ค. 2565 ก็เป็นไปได้” นายสมชัยระบุ

@การจัดเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ แต่กฎหมายลูกยังไม่ถูกแก้ไขจะเป็นปัญหาหรือไม่

หากรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว มีการยุบสภา ก็ต้องใช้กติกาใหม่ไม่ว่ากฎหมายลูกจะเสร็จหรือไม่เสร็จก็ตาม ทั้งนี้ถ้ามองในมุมของประโยชน์คนที่มีอำนาจ มองว่าจังหวะเวลาที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ ยังเป็นจังหวะเวลาที่ดีกว่า เพราะหากกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ กกต.จะต้องขอให้รัฐบาลออก พระราชกำหนด เพื่อที่จะให้มีการออกแบบระบบการจัดการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

และตัวพระราชกำหนดดังกล่าวสามารถเขียนออกมาตามใจ ครม.ได้ จะออกมารูปร่างหน้าตาอย่างไร สามารถกำหนดได้เอง เขียนได้เอง โดยอาจจะปรึกษาหารือกับ กกต. และมีพระราชกำหนดออกมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงสภาหมดสมัยประชุม และกฎหมายลูกยังทำไม่เสร็จ

แต่หากรอทำกฎหมายลูกให้เสร็จโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว จะช้าและไม่สามารถกำหนดทิศทางตัวกฎหมายลูกได้ว่าเป็นอย่างไร และอาจเป็นสิ่งที่เขียนมาแล้วไม่ตรงกับใจผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็ได้ คือ ถ้าเขาประสงค์ความได้เปรียบ เขาจะชิงจังหวะเวลาในช่วงที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ แล้วยุบสภา เพื่อทำให้ตัวเองมีอำนาจเขียนกฎหมายตามใจตัวเองได้มากกว่า

ส่วนการจัดเลือกตั้งของ กกต. ต้องมีกฎหมายรองรับ อาจจะมาจากพระราชบัญญัติ หรือออกเป็นพระราชกำหนด ส่วนเรื่องประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ไม่ต้องเป็นห่วงเขาเลย เพราะตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540-2560 กกต.จัดการเลือกตั้งภายใต้บัตร 2 ใบมาโดยตลอด ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เขาเคยทำมาแล้วทั้งหมดในอดีต การนับคะแนนก็ง่ายต่อ กกต. เพราะไม่มีความซับซ้อนเหมือนระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่มีการปัดเศษ และเป็นที่ครหาว่าคำนวณถูกต้องหรือไม่ เอื้อประโยชน์ต่อพรรคเล็กหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ก็จะจบ

ในส่วนของพรรคการเมืองก็สบาย เพราะไม่จำเป็นต้องส่งครบทุกเขต ส่งเขตเดียวก็มีชื่อของพรรคในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ทั้งประเทศ 400 เขต ซึ่งเป็นการง่ายต่อพรรคการเมือง และการหาเสียงก็เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น เพราะหมายเลขของผู้สมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และผู้สมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะเหมือนกันทั้งประเทศ ไม่สับสนวุ่นวาย ส่วนประชาชนก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเคยชินกับระบบบัตร 2 ใบ มาโดยตลอด ดังนั้นการเลือกตั้งภายใต้ระบบใหม่ ทุกฝ่ายล้วนแต่ได้ประโยชน์และไม่เป็นปัญหาใด ๆ

@การเลือกตั้งภายใต้รูปแบบใหม่จะทำให้การแข่งขันทางการเมืองร้อนแรงมากกว่าระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

การแข่งขันยังรุนแรงเหมือนเดิม แต่ภายใต้รูปแบบบัตร 2 ใบ พรรคใหญ่จะได้เปรียบมากกว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยพรรคใหญ่จะได้ 2 ทางคือได้ ส.ส.เขต ที่ส่งจำนวนมาก และส่วนแถมคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่ถูกจัดสรรปันส่วนผสม ดังนั้นพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยอาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปเกือบ 50 ที่นั่ง ส่วนพรรคขนาดกลางคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง อาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกันประมาณ 40 ที่นั่ง ส่วนจำนวนที่เหลือจะเป็นของพรรคเล็ก อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา เสรีรวมไทย ชาติพัฒนา เป็นต้น

ส่วนพรรคที่เคยได้ 1 ที่นั่งจากการปัดเศษรอบที่แล้ว ครั้งนี้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากฐานคะแนนที่นำมาสู่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน เป็น 350,000 เสียง หากจะรอปัดเศษก็อาจจะต้องมีคะแนนมากกว่า 150,000 เสียงขึ้นไป ดังนั้นพรรคที่เคยได้คะแนนต่ำกว่า 150,000 เสียง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก็อย่าหวังว่า จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

@หากการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเล็กเสียเปรียบ แล้วพรรคใหม่ที่อาจจะตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคสำรอง จะตอบโจทย์ผู้มีอำนาจหรือไม่

พรรคสำรองดังกล่าวเจตนาในการตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นอำนาจในการต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า หากไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็พร้อมตั้งพรรคใหม่แล้วชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และคนที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจจะถูกดึงออกมา หากเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังขายได้ในสายตาประชาชน แต่ตนยังไม่ประเมินว่าพรรคนี้จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แม้ในการสร้างพรรคจะทำให้เกิดความสำเร็จได้ แต่คนที่ถูกดึงมาร่วมพรรคใหม่อาจเป็นคนไม่มีแสง แม้เคยชนะเลือกตั้งจากการชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่ครั้งนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปไม่เหมือนปี 2562 เพราะเป็นสถานการณ์การบริหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักการเมืองแล้วพิสูจน์ว่าไม่มีความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ดังนั้นสินค้าที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่ใช่สินค้าที่ขายได้ในท้ายที่สุด ดังนั้นพรรคใหม่อาจประสบความสำเร็จในการตั้งพรรค แต่ไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

“หากประเมิน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แล้วให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า การจะตั้งพรรคใหม่แล้วชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะพอตั้งพรรคใหม่แล้วคนที่ดึงออกมาได้อาจจะไม่ใช่ผู้สมัครที่ประชาชนให้ความสำคัญ และตัวชูโรงที่จะเป็นนายกฯ ก็ด้อยคุณภาพลงมาแล้ว ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ ส.ส.จำนวนเท่าที่ต้องการ ไม่ได้เป็นพรรคอันดับต้นๆ คำถามคือการไม่ได้เป็นพรรคอันดับต้นๆ แต่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วพรรคอันดับต้น ๆ จะมีน้ำใจให้หรือ ซึ่งผมไม่เชื่อว่ามี”