สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ว่า นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า สมาชิกทั้ง 27 ประเทศ มีฉันทามติให้มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของรัสเซีย “เป็นครั้งแรก”


มาตรการดังกล่าวซึ่งจะเป็นครั้งที่ 14 ของอียู ที่มีต่อรัสเซีย นับตั้งแต่สงครามในยูเครนเปิดฉาก เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในวันที่ 24 มิ.ย. พุ่งเป้ากดดันรัสเซีย ในการลำเลียงแอลเอ็นจีข้ามทวีปผ่านยุโรป ไปยังจุดหมายในเอเชีย


อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ “ไม่ครอบคลุม” ความต้องการของสมาชิกอียูแต่ละประเทศ ในการซื้อแอลเอ็นจีจากรัสเซีย


ปัจจุบัน ท่าเรือหลายแห่งในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส และสเปน ถือเป็นจุดพักสินค้าที่สำคัญของรัสเซีย ในการลำเลียงแอลเอ็นจีออกจากท่าเรือในคาบสมุทรยามาล ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาคไซบีเรีย ก่อนที่จะมีการส่งออกแอลเอ็นจีเหล่านั้น ต่อไปยังพื้นที่อีกหลายแห่งในเอเชีย โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน และตุรกี


นอกจากนี้ อียูเห็นชอบการเพิ่มมาตรการตรวจสอบและจัดการกับ “กองเรือเงา” ซึ่งทำหน้าที่คอยส่งน้ำมันดิบให้แก่รัสเซียด้วย โดยกองเรือเงาส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทที่มีความคลุมเครือทางธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นเพียง “บริษัทเปล่า”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES