เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ค่ายรัตนรังสรรค์ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง พ.อ.พัศวีร์ โปชะดา ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 เป็นประธานตรวจสภาพความพร้อมด้านบรรเทาสาธารณภัย (อุทกภัย) ของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 ตามประกาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก เรื่อง ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 21-27 มิ.ย. 2567 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณจังหวัดระนอง และจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน มีฝนตกหนักถึงหนักมากได้ในบางพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลมีคลื่นสูงและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร สถานีอุตุนิยมวิทยาระนอง จึงขอแจ้งให้ประชาชนในทุกอำเภอโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยของทุกหมู่บ้านในจังหวัดระนอง ระวังและเตรียมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำป่าไหลหลาก ดินเลื่อนไหล ลมกระโชกแรง

ศบภ.ร.25 พัน.2 ได้จัดเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดระนอง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยฟังบรรยายสรุปพื้นที่เกิดภัยพิบัติซ้ำซาก ตรวจชุดช่วยเหลือประชาชน ยุทโธปกรณ์ เรือท้องแบน ทั้งเรื่องยานพาหนะในการช่วยขนย้ายสิ่งของ และอพยพประชาชนที่ประสบภัย และโรงครัวสนามพระราชทาน ให้มีความพร้อมตลอดเวลา กำลังพลพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดอุทกภัยขึ้นในทุกอำเภอของจังหวัด ซึ่งหลังรับแจ้งเหตุทางทหารจะเข้าถึงพื้นที่ภายใน 30-60 นาที

พ.อ.พัศวีร์ กล่าวว่า หน่วยบรรเทาสาธารณภัย กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 ได้มีการตรวจสภาพความพร้อม เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดระนอง กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 รับผิดชอบด้วยกัน 5 อำเภอ ซึ่งภัยที่เกิดอยู่เป็นประจำในพื้นที่อยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ภัยอย่างแรกก็คืออุทกภัย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศในของจังหวัดระนอง เป็นพื้นที่ภูเขาแล้วก็เทือกเขา เมื่อมีฝนตก จะเกิดการน้ำไหลหลาก แล้วเกิดภาวะน้ำท่วมขึ้นมาเป็นประจำในพื้นที่ ภัยที่ 2 ที่มักจะเกิด ก็คือดินโคลนถล่ม ด้วยสภาพภูเขาแล้วก็การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศในปัจจุบัน ชาวบ้านได้เข้าไปทำสวนผลไม้ หรือสวนพืชพรรณทางการเกษตรมากขึ้น ทำให้ป่าไม้ได้ลดน้อยลง การยึดเกาะดินก็น้อยลงตามไปด้วย เมื่อมีผลตกหนักเป็นประจำ ก็จะมีการสไลด์ของดินโคนถล่ม ก็มีผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ภัยที่ 3 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดระนองเรา ก็คือวาตภัย เนื่องจากอีกส่วนหนึ่งของจังหวัดระนองเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลฝั่งอันดามัน เพราะฉะนั้น ก็จะมีคลื่นลมทางทะเลมาหนุน ทำให้เกิดลมที่ค่อนข้างจะแรงในพื้นที่ ในส่วนของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 ได้มีการเน้นย้ำ และเตรียมความพร้อมของกำลังพล ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ เมื่อไหร่ที่มีภัยเกิดขึ้นในพื้นที่ในจังหวัดของระนอง ก็จะประสานกับส่วนราชการต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทันที ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ทหารเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส”


