กรณีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอสีคางดำ” ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนัก ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กำหนดจัดกิจกรรมปฏิบัติการไล่ล่าจับปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสีย บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

โลละ20! สมุทรสงคราม ขานรับข้อเสนอ หลัง ‘ลงแขก’ ล่า ‘หมอคางดำ’ ทุกปี

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสีย 184 ไร่ ที่จะระดมจับปลาหมอคางดำในวันที่ 14 ก.ค.นี้ พบว่าโครงการชลประทาน เพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ทางราชการได้ส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงกุ้ง ปูดำ และปลา เกือบ 200 บ่อ จัดแบ่งพื้นที่ออกมาสัดส่วน มีบ่อน้ำดีขนาดใหญ่สำหรับสูบน้ำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำตามบ่อต่าง ๆ และมีการแยกย่อยไปขุดบ่อพักน้ำดีอีกหลายบ่อ เพื่อสูบนำเข้าไปพักไว้รอการสูบเข้าบ่อเลี้ยงจริง โดยมีการโรยกากชา และตากแดด จนแน่ใจว่าน้ำในบ่อน้ำดีมีคุณภาพเพียงพอในการสูบเข้าเลี้ยงสัตว์น้ำ

จึงทำการสูบเข้าบ่อโดยผ่านการกรองน้ำ 2 ชั้น บ่อเลี้ยงตามหลักวิชาการที่ได้มาตรฐานโอกาสที่ปลาหมอคางดำจะหลุดรอดเข้าไปในบ่อมีน้อยมาก แต่ก็มีโอกาสหลุดเข้าไปได้ในรูปแบบของน้ำเชื้อและไข่ปลาหรือลูกปลาปลาหมอคางดำ ขนาดเล็ก ๆ อย่างไรก็ตามบ่อเลี้ยงในพื้นที่เดียวกันก็มีบ่อเลี้ยงแบบธรรมชาติ ซึ่งจะสูบน้ำจากบ่อน้ำดีเข้าบ่อเลี้ยงโดยตรงไม่ผ่านบ่อพักเพื่อฆ่าเชื้อหรือโรยกากชา โอกาสที่ลูกปลาหมอคางดำ ไข่หรือน้ำเชื้อจะเข้าไปในบ่อเลี้ยงธรรมชาติจึงมีโอกาสสูงกว่าบ่อเลี้ยงมาตรฐานตามหลักวิชาการ

ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่มีการขุดเป็นบ่อขนาดใหญ่ยาวหลายกิโลเมตร เพื่อใช้เป็นบ่อรับน้ำเสียจากการเปิดจับสัตว์น้ำตามบ่อเลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดกิจกรรมระดมจับปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณยึดอาชีพจับปลาหมอคางดำไปจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาแดดเดียว ปลาเปรี้ยว หรือแปรรูปเป็น “เคย” หรือกะปิปลาหมอคางดำ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงพิษภัยร้ายแรงของปลาหมอคางดำ และคิดว่าเป็นปลานิลสายพันธ์ใหม่ จึงมักเรียกปลาหมอคางดำว่า “ปลานิลคางดำ” หรือ “ปลานิลแกมดำ”

นางสมจิตร ดีชู หรือ “ป้าจิตร” อายุ 74 ปี ซึ่งอาศัยอยู่หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง พร้อมญาติ ๆ และเพื่อนบ้าน 3-4 ครัวเรือน รวมกว่า 10 คน ได้ออกมาเรียกร้องและคัดค้านการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยการใช้กากชา หรือสารเคมีโรยฆ่ายกบ่อ เพราะหากปลาหมอคางดำตายหมด จะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีอาชีพจับปลาหมอคางดำเป็นอาชีพสร้างรายได้มาเกือบ 3 ปีแล้ว รายได้ทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งเสียลูกหลานให้เล่าเรียนล้วนมาจากการจับปลาหมอคางดำขายทั้งนั้น

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร เขต อ.ปากพนัง ที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องแก้ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด จึงอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ให้ฟัง ว่าเป็นปลาจากต่างแดนที่กรมประมงประกาศเป็นปลาหรือสัตว์น้ำห้ามเลี้ยงเด็ดขาด เพราะเป็นปลาที่ดุร้าย กินทั้งพืชและสิ่งมีชีวิต ทำให้สัตว์นำท้องถิ่นอื่นๆ หมดไปจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้ออย่างรุนแรง ใครฝ่าฝืนแอบเลี้ยงจะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท

ซึ่ง นางสมจิตร เผยว่า ตอนนี้ตนและครอบครัวจับปลาหมอคางดำขายในราคา กก.ละ 15-20 บาท มีรายได้อย่างน้อยคนละ 300-400 บาท/วัน และยังนำมาแปรรูปเป็นปลาเปรี้ยว ปลาแดดเดียว ขายได้ในราคาสูงถึง กก.ละ 150 บาท ที่สำคัญอร่อยมากๆ คือการนำปลาหมอคางดำ มาทำ “เคย” หรือ กะปิ” ขาย กก.ละ 150-200 บาท มีคนมารับซื้อถึงบ้านจนผลิตให้ไม่เพียงพอ โดยยังเหลือที่ขัดน้ำในไห 2 ไห ซึ่งตนขอคัดค้าน ยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะโรยกากชา หรือสารเคมีฆ่าปลาหมอคางดำแบบยกบ่อ แต่เห็นด้วยที่ทางราชการระดมจับแบบใช้เครื่องมือประมงต่างๆ ทอดแห ยกยอ วางอวน ตนคิดว่าอีกนานกว่าปลาหมอคางดำจะหมดไป หากถึงวันที่ปลาหมอคางดำหมดไปจริง ๆ ขอให้ทางราชการนำปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ มาปล่อยเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำมาหากิน

นายไพโรจน์ จึงได้กล่าวชี้แจงอีกว่า หากประชาชนจับจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาบริโภคหรือจำหน่ายสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย และทางราชการจะไม่ใช้สารเคมีหรือกากชาโปรยในบ่อหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะจะกระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เพราะหากโรยกากชาหรือสารเคมีจนปลาหมอคางดำตายยกทั้งบ่อ ไม่สามารถระดมเจ้าหน้าที่มาดักซากปลาที่ตายขึ้นจากบ่อหรือแหล่งน้ำธรรมชาติได้ทั้งหมด ปลาจะเน่าเสียในบ่อ ส่งกลิ่นเหม็น รุนแรงออกไปเป็นบริเวณกว้างอย่างแน่นอนน้ำในบ่อก็จะเน่าเสียหนักขึ้นไปอีก จึงขอให้ประชาชนเข้าใจและทราบข้อเท็จจริงตามนี้

ภายหลังชี้แจงสร้างความดีใจให้กับนางสมจิตร และญาติๆ รวมทั้งเพื่อนบ้านที่ยึดอาชีพจับปลาหมอคางดำขายเป็นอย่างมาก และยืนยันว่าในวันที่ 14 ก.ค.นี้จะเข้าร่วมกิจกรรมระดมจับปลาหมอคางดำขายด้วย และจะทำอาหารเมนู “ปลาหมอคางดำ” ให้เจ้าหน้าที่ได้กินกันอย่างทั่วถึงอีกด้วย.