ท่ามกลางบริบททางการเมืองในขณะนี้ ที่มีการส่งสัญญาณทางการเมืองจากทั้งรัฐบาลและบรรดาคนการเมือง ก็ทำให้การเมืองในช่วงเวลาหลังจากนี้เป็นช่วงที่จะต้องจับตามองกันให้ดี

เริ่มตั้งแต่การเปิดเกมชิงธง เตรียมสู้ศึกสนามเลือกตั้งกันชุดใหญ่ โดยที่พรรคการเมืองมีการออกมาตีปี๊บเสนอชื่อนายกฯ ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ พรรคก้าวไกล เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค นอกจากนั้นยังมีชื่อคนการเมืองที่ถูกเสนอต่อสาธารณะ ทั้ง “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย และ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เป็นต้น

โดยการเปิดเกมชิงธงเสนอชื่อนายกฯที่เกิดขึ้นในครังนี้ เนื่องจากการที่หลายๆ พรรคเริ่มจับสัญญา “ปะทุ” ของภูเขาไฟที่ใกล้จะระเบิดได้ จากโจทย์ร้อนที่กำลังรุมสกรัม “บิ๊กตู่” ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ ที่ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังอยู่ในช่วงลูกผีลูกคน ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีโจทย์การเร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตามที่รัฐบาลวางไว้ เพื่อขยับไปสู่เป้าหมายการเปิดประเทศนั้น ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายและค้ำคอรัฐบาลอยู่ นอกจากนั้นยังจะต้องรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายลุ่มน้ำทั่วประเทศ ซ้ำร้ายยังมีพายุลูกใหม่ เคลื่อนตัวเข้าถล่มประเทศไทย ในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค.นี้ อาจจะซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่

รวมทั้ง “น้ำเน่าการเมือง” ภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังคงคาราคาซังด้วยเกมโค่นอำนาจกันภายในพรรค จนทำเอาเป็นปัญหาฝุ่นตลบกันไปทั้งรัฐบาล

เพราะเกือบจะมี “งานงอก” จากปัญหาความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคคประชาธิปัตย์ หลังจาก “บิ๊กตู่” เซ็นโอนนำนาจดูแล 4 กรมในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กับ “บิ๊กป้อม” แบบข้ามหัว-ข้ามหน้าข้ามตา “จุรินทร์” ในฐานะรองนายกฯ ที่คุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อง้องอนพี่ใหญ่

แต่สุดท้ายถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบเจ็บๆ จุกๆ ว่า ถนัดปฏิวัติ ยึดอำนาจ-รวบอำนาจ จนในที่สุด “บิ๊กตู่” ต้องชักฟื้นออกจากกองไฟก่อนจะร้อนแรงเป็นไปลามทุ่ง โดยที่ “พี่น้อง 3ป.” มีการปิดห้องลับคุย “จุรินทร์” สุดท้ายจึงได้ข้อยุติด้วยการคืนอำนาจ 4 กรม ให้กลับไปอยู่ในอำนาจพรรคประชาธิปัตย์ตามเดิม

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความระหองระแหงในความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งซ้ำรอยกับกรณีของ พรรคภูมิใจไทย ที่เคยกล้ำกลืนฝืนทนจากการโดนยึดอำนาจ จากการโอนอำนาจรัฐมนตรี ตามกฎหมาย 31 ฉบับ ไปให้ “บิ๊กตู่” สั่งการ แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงฟื้นฟู ช่วยเหลือ จนเกิดปัญหาการบริหารจัดการวัคซีน และกลายเป็นการโยนความผิดกันไปมา

จากบริบทการเมืองที่เกิดขึ้น แม้ “บิ๊กตู่” จะพูดกลางวงประชุม ครม.ชัดว่า รัฐบาลยังทำงานร่วมกันตามปกติ ได้ร่วมงานกันมากว่า 2 ปี 3 เดือน และรัฐบาลยังทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นเหมือนการส่งสัญญาเดินหน้าต่อในเกมอำนาจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ห้วงเส้นทางการเมืองหลังจากนี้ ของ “บิ๊กตู่” จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่จะเหมือนการเดินเหยียบอยู่บนระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุเมื่อไหร่ก็ได้!

เพราะขณะนี้ “บิ๊กตู่” ยังอยู่ในสถานะ “ขาลอย” ขาดการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ มิหนำซ้ำไม่ว่าหันไปทางไหนก็มีแต่คนถือหอกดาบคอยทิ่มแทง รุมทึ้งจ้องโค่นบัลลังก์อำนาจ โดยเฉพาะเกมอำนาจในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ที่ “บิ๊กตู่” ยังคุมไม่อยู่ เนื่องจากจะต้องใช้เสียง ส.ส. ในสภา แต่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่อยู่ในอาณัติของ “บิ๊กตู่” กลับมีแบบนับเรียงตัวได้ ขณะที่จำนวน ส.ส. ที่อยู่กับขั้วอำนาจตรงข้าม กลับมีจำนวนมากเกือบ 60 ชีวิต

ซึ่งจุดนี้จะกลายเป็นพายุลูกใหญ่ ที่รอฟาดฟัน “บิ๊กตู่” ในอนาคต เพราะหมากเกมนี้ “ผู้กองธรรมนัส” ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ คงไม่หลบฉากให้อย่างแน่นอน ประกอบกับลีลาการลงพื้นที่น้ำท่วม ที่เล่นใหญ่ลงทุนดราม่า ลงแช่น้ำครึ่งอก เหมือนกับทำให้คนในตึกไทยคู่ฟ้าดูว่า การจะลงพื้นที่ให้ได้ใจประชาชนต้องทำอย่างไร ซึ่งเหมือนเป็นการข่มอยู่ในที ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการส่งสัญญาณชัดว่า “ผู้กองธรรมนัส” ยังไม่ถอดใจจากเกมชิงอำนาจในพรรคพลังประชารัฐที่ได้เริ่มไว้แล้ว

งานนี้แม้ “บิ๊กตู่” จะพยายามฮึดสู้ โดยการจับมือกับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยให้ “ปลัดฉิ่ง”ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดมหาดไทยเดินเกมตั้งพรรคสำรอง แต่หากนับนิ้วคำนวณระยะเวลาที่เหลือในวาระของรัฐบาล กับกระบวนการขั้นตอนในการจัดตั้งพรรคตามกฎเกณฑ์ของ กกต. ทั้งการหาสมาชิกพรรค การตั้งสาขาพรรค รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้พรรคสำรองพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นงานหินพอสมควร

ดังนั้นโอกาสเดียวที่ “บิ๊กตู่” จะไปต่อได้บนเส้นทางอำนาจ แบบอยู่ยาว มีเพียงทางเดียวคือการกลับมายึดพรรคพลังประชารัฐให้กลับมาอยู่ในอาณัติให้ได้

ซึ่งคีย์แมนตอนนี้ก็หนีไม่พ้น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่รับบท “ขงเบ้ง” กำหนดทิศทางเกมอำนาจ ที่ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกฝ่ายไหน ระหว่าง “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” กับ “ผู้กองธรรมนัส” เพราะทุกวันนี้ยังใช้ “ธรรมนัส-นฤมล” เป็นหนามแทงอก “น้องเลิฟ 2 ป.” ย่างต่อเนื่อง แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังเดินจับมือโอบไหล่โชว์หวานกับ “น้องตู่”  ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จับอาการตอนนี้เกมอำนาจในพรรคพลังประชารัฐเริ่มมีการขยับหมากบนกระดานกันอีกครั้ง เมื่อ “บิ๊กป้อม” แต่งตั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม  และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทั้ง 2 คนถือได้ว่าอยู่ในขั้วอำนาจ ”บิ๊กตู่” ที่ถูกตั้งขึ้นมาคานอำนาจในพรรค ดังนั้นสุดท้ายต้องรอดูว่าการเดินเกมของ “บิ๊กป้อม” จะมีตอนจบอย่างไร เพราะการเดินเกมครั้งนี้ไม่ธรรมดา ถึงขนาดที่ “น้องเลิฟ 2 ป.” เอง ยังตามเกม “พี่ป้อม” ไม่ทัน!

ซึ่งตอนนี้จะเป็นช่วง “ลำหักลำโค่น” ที่ต้องรอดูว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งคงเป็นช่วงที่ “บิ๊กตู่” จะต้องยอมผันตัวเอง 360 องศา เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยในเกมอำนาจหลังจากนี้ ส่วนจะมีการกำจัดศัตรูทางการเมือง แบบที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาผยอง คอยโค่นอำนาจได้อีกเลยหรือไม่ ต้องรอดูกัน

ส่วนสัญญาณที่ถูกมองว่ามีแนวโน้มยุบสภานั้น ประเมินแล้วการยุบสภาตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับ “บิ๊กตู่” ด้วยคะแนนนิยมที่หดหายลงไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่สร้างคะแนนนิยมในหมู่ประชาชน คู่ขนานกับการแก้ปัญหาขาลอยของตัวเอง จนถึงจุดที่สุกงอมแล้วค่อยตัดสินใจยุบสภา น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

โจทย์การเมืองตอนนี้ “บิ๊กตู่” ต้องสร้างศรัทธาภายในพรรคพลังประชารัฐ ควบคู่ไปกับการสร้างศรัทธาจากประชาชน ซึ่งตอนนี้เริ่มเข้าขั้นเสพติด “ระบอบประยุทธ์นิยม” กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้จากการลงพื้นที่ของ “บิ๊กตู่” ก็มีเสียงสะท้อนจากประชาชนให้ต่ออายุโครงการคนละครึ่ง ตลอดจนการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มต่างๆ

ดังนั้นจะต้องรอดูว่าหลังจากนี้ “บิ๊กตู่” จะกู้ศรัทธาจากพรรคพลังประชารัฐ และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน กลับมาได้ทันสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทันหรือไม่.