จากกรณีการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ในหลายพื้นที่ของ จ.สมุทรสงคราม ส่งผลให้เกษตรกรและชาวประมงต่างได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จนหลายฝ่ายวอนขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ รวมไปถึงการผลักดันให้เป็น “วาระจังหวัด” เพื่อให้เรื่องการกำจัด “เอเลี่ยนสปีชีส์” ได้รับงบประมาณสนับสนุน และเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายศราวุธ กล้วยจำนงค์ นายกเทศมนตรีบางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ต.บางจะเกร็ง เป็นพื้นที่ติดชายทะเล เริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำมา 3 ปีกว่าแล้ว แรกๆ ชาวบ้านไม่รู้จักปลาชนิดนี้ กระทั่งมีข่าวการแพร่ระบาดที่ ต.แพรกหนามแดง แต่ไม่คิดว่าจะมาถึง ต.บางจะเกร็ง เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำกร่อยถึงน้ำเค็ม ปลาหมอคางดำน่าจะอยู่ไม่ได้ แต่วันนี้พบในคลองสาธารณะทุกแห่งเป็นจำนวนมาก
ส่วนในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้านไม่น่าห่วงมากนัก เพราะส่วนใหญ่เลี้ยงปลากะพงและเป็นบ่อปิด แม้จะมีการผันน้ำทะเลเข้ามาเลี้ยงปลากะพง แต่ปลาหมอคางดำตัวใหญ่ก็เข้ามาไม่ได้ มีแต่ลูกปลาตัวเล็กๆ ที่เล็ดลอดเข้ามากับน้ำทะเล แต่ก็เป็นเหยื่อของปลากะพงนักล่า ที่ผู้เลี้ยงปล่อยขนาดตัวโต 3 นิ้วขึ้นไป จึงไล่กินลูกปลาหมอคางดำที่ตัวเล็กกว่า ที่น่าเป็นห่วงคือตามแหล่งน้ำสาธารณะ พบเจอปลาหมอคางดำเยอะมาก ขณะที่ปลาพื้นถิ่นเริ่มพบเจอน้อยลง
ส่วนกรณีที่จะผลักดันให้การกำจัดปลาหมอคางดำ เป็น “วาระจังหวัด” ตนเห็นด้วยอย่างมาก โดยจังหวัดมีคำสั่งมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ตั้งงบประมาณสนับสนุนการกำจัดปลาหมอคางดำ ตนในฐานะผู้นำท้องถิ่น ยินดีสนองแนวทางดังกล่าวและจะดำเนินการในส่วนแรกที่ทำได้ คือเรียกรวมพลอาสาสมัครในพื้นที่มาร่วมกันลงแขกลงคลองใช้อวนและแหจับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำสาธารณะ แต่เรื่องตั้งงบประมาณรับซื้อ กก.ละ 20 บาทนั้น จะหารือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก่อนว่าทำได้หรือไม่ ที่ผ่านมาการปล่อยกุ้งปล่อยปลาตั้งงบประมาณได้ แต่การกำจัดสัตว์น้ำที่เป็นภัยต่อธรรมชาติลักษณะนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน หากทำได้ถูกต้องตามระเบียบราชการก็พร้อมตั้งงบประมาณสนับสนุน และยังเห็นว่า อปท.ทุกแห่งที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ ควรตั้งงบประมาณสนับสนุนการกำจัดปลาหมอคางดำพร้อมกัน เพราะหากต่างคนต่างทำจะไม่ได้ผล
นายศราวุธ กล่าวว่า ความเห็นของตน เรื่องการตั้งงบประมาณซื้อปลาหมอคางดำนั้น ต้องทำแบบซื้อมาขายไป โดย อปท. กำหนดจุดรับซื้อขาย เป็นการสร้างอาชีพสร้างงานให้กับคนในชุมชน โดยจัดซื้อเดือนละครั้งหรือสองครั้งตามความมากน้อยของปลา แต่จะต้องทำต่อเนื่องเป็นงบผูกพัน ไม่เช่นนั้นปลาหมอคางดำก็หมดไปได้ยาก และยังอยู่เป็นศัตรูของระบบนิเวศและสัตว์น้ำท้องถิ่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความเห็นตนเชื่อว่าเมื่อปลาหมอคางดำมาอยู่ในประเทศไทยนานวัน อาจจะมีการปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ การได้กินอาหารและสภาพระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ อาจทำให้ตัวใหญ่เนื้อเยอะขึ้นและกินอร่อยเป็นที่ยอมรับ ในส่วนของ ต.บางจะเกร็ง มีแรงงานต่างด้าวอยู่อาศัยประมาณ 4,000-5,000 คน พวกเขานิยมซื้อปลาหมอคางดำมาทำอาหารกินกันเพราะราคาถูก บางคนก็ทอดแหหาเองในแหล่งน้ำสาธารณะ ดังนั้นการตั้งงบประมาณเพื่อจับและรับซื้อปลาหมอคางดำ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกำจัดปลาหมอคางดำอย่างได้ผล เช่น ตัวใหญ่ก็นำไปขายให้คนนำไปบริโภค กก.ละ 20 บาท เชื่อว่ามีคนซื้อแน่นอน โดยเฉพาะที่นี่มีแรงงานต่างด้าวที่ชื่นชอบและเน้นของกินราคาย่อมเยา ส่วนปลาตัวเล็กก็ส่งโรงงานแปรรูปเป็นปลาป่นอาหารสัตว์ หรือส่งโรงงานทำปลาร้าก็ยังได้เงินกลับมาหมุนเวียน