จากกรณีกระแสโซเชียลแห่ปกป้องติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน พุ่งขึ้นติดอันดับ 1 ในไทย พร้อมคัดค้านการเฉือนอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
Saveทับลาน พุ่งขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ค้านเฉือนพื้นที่ป่าอุทยานฯ กว่า 2.6 แสนไร่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา ม.เชียงใหม่ เขียนถึงการกันพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.6 แสนไร่ โดยเธอเห็นด้วยเนื่องจากการจัดตั้งอุทยานที่ผ่านมา จัดทำโดยไม่ได้สนใจที่ดินทำกินของชาวบ้าน ระบุ วาทกรรม “ผืนป่าที่ถูกเฉือน” ของกลุ่มอนุรักษ์เป็นการปั่นกระแสเขียวตกขอบในกลุ่มชนชั้นกลาง
“สิ่งที่พวกกลุ่มอนุรักษ์ตั้งใจไม่พูดถึงคือ อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้ แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้นไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนเรื้อรังมานานหลายทศวรรษ อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เช่นกัน
การใช้วาทกรรม “ผืนป่าที่ถูกเฉือน” ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี อุทยานประกาศปี 2524 ชาวบ้านบางกลุ่มอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2515 ด้วยซ้ำไป แบบนี้ไม่เรียกว่าอุทยานบุกรุกที่ชาวบ้าน จะให้เรียกว่าอะไร
การใช้ข้ออ้างเรื่องกลัวกลุ่มทุนจะมาฮุบที่เหมาเข่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเพิกถอนป่าที่ไปแย่งชาวบ้านเขามา และคืนสิทธิให้กับเจ้าของที่ดินที่อยู่มาก่อน จึงเป็นตรรกะที่วิบัติมาก ที่น่าแปลกคือ สื่อส่วนใหญ่ก็พากันไปกับกระแสเขียวตกขอบ แทบไม่เห็นสื่อไหนที่เสนอข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากข่าวนี้”
ภายหลังจากข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ทำไปแชร์ต่อ ทำให้ชาวเน็ตเข้ามาโพสต์ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม มีหลายเสียงที่ระบุว่า เรื่องต้องมองกันหลาย ๆ มุม เพราะถ้าเป็นชาวบ้านต้องการที่ดินทำกินจริง ๆ ก็ควรให้ความช่วยเหลือ แต่หากการช่วยเหลือครั้งนี้ท้ายที่สุดผลประโยชน์ยังไปตกอยู่กับนายทุนรุกป่า หรือเป็นการเช่า-ซื้อที่จากชาวบ้านเพื่อไปสร้างรีสอร์ท ก็ต้องมีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri