เรื่องแรกหนีไม่พ้นกระบวนการ รับรองสมาชิกวุฒิสภา (สว. ) 200คน และ สำรองอีก 100 คน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ผ่านการเลือกไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังวันที่ 9 ก.ค. มีการประชุม กกต. เพื่อพิจารณาถึงการรับรองผลการเลือก สว.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่อง ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง ปรากฏว่า ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้ต้องนัดประชุมใหม่ในวันที่ 10 ก.ค. เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป คงต้องรอลุ้นว่า วันนี้จะมีบทสรุปหรือไม่ และหากรับรองแล้ว จะมีขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ กว่า 600 เรื่องอย่างไร เนื่องจากมีเสียงวิจารณ์ว่า อาจจะซ้ำร้อยการเลือกตั้ง สส. เมื่อเดือน พ.ค. 66 เพราะ กกต.แจกใบแดงได้ไม่กี่ใบ

อีกทั้งก่อนหน้านี้ บรรดาผู้สมัคร สว.ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก หรือทนายความบางคนออกมาเตือนว่า หาก กกต.ให้การรับรอง สว. ก็เตรียมที่จะดำเนินคดีกับองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง เพราะอ้างว่าพบกระบวนการบล็อกโหวต จัดทำโพย เลือกแบบชุดคะแนนเดียวกัน หรืออีกหลายรูปแบบ ที่เชื่อว่าไม่โปร่งใส ดังนั้นบรรดาพวกอกหักคงไม่ยอมถอดใจง่ายๆ ต้องหาช่องทางต่อสู้จนถึงฎีกาแน่ เพื่อหวังให้ได้สิทธิ์คืนมา เนื่องจาก สว.มีอำนาจมากล้น ทั้งกลั่นกรองกฎหมาย ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรื่องทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) และสำคัญสุดคือ การคัดเลือกบุคคลที่เข้าไปทำงานในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่สองคือความเคลื่อนไหวของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี มีวาระสำคัญเดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการ “การป้องกันปราบปรามยาเสพติดและการบำบัดรักษาของ12 จังหวัด ( อีสานเหนือ) ” ที่ จ.อุดรธานี หลังก่อนหน้านี้ประกาศ ต้องจัดการให้เด็ดขาดภายใน 90 วัน เป็นการลงพื้นที่ต่างจังหวัดอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้มีเสียงวิจารณ์จาก “วรชัย เหมะ” ที่ปรึกษารองนายกฯ (ภูมิธรรม เวชยชัย ) อดีตแกนนำคนเสื้อแดง แนะนำอยากให้นายกฯ แบ่งเวลาการลงพื้นที่มานั่งทำงานที่ทำเนียบ เรียกข้าราชการมารายงานความคืบหน้านโยบาย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันลงพื้นที่โดยไม่เหลียวแลหลัง เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะไม่มีอะไรต่างจากรอบปีที่ผ่านมา ประชาชนต้องการผลสำเร็จของนโยบาย ก็ถึงเวลาแล้วที่นายกฯ ต้องเร่งขันน็อตกำชับตรวจการบ้าน ไม่ใช่สั่งแล้วสั่งเลย 

ทำให้หัวหน้ารัฐบาลต้องออกมายอมรับ ต้องปรับปรุงเรื่องการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ หวังให้ทั้งคนในรัฐบาลและนอกฝ่ายบริหาร เข้าใจถึงทิศทางในการทำงานมากขึ้น ซึ่งดูเหมือนนายกฯเศรษฐาต้องเผชิญทั้งแรงกดดันภายในและภายนอก ยิ่งสมัยประชุมสภาฯที่เพิ่งมาได้ไม่นาน พรรคฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้ใจได้ เชื่อว่าครั้งนี้คงไม่ปล่อยให้อาวุธสำคัญต้องหลุดลอยไปแน่ๆ

เรื่องที่สามเรื่องสุดท้ายที่ต้องจับตามองคือ การแถลงข่าวของ “ไชยชนก ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท. ) พร้อมด้วย กรรมการบริหารพรรค เกี่ยวกับท่าทีของพรรค หลังจากจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด หากเปรียบแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ต นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย (พท. ) คงต้องบอกว่า ปลดล็อกกัญชาพ้นยาเสพติด ก็เปรียบเป็นจุดขายของพรรคสีน้ำเงิน เนื่องจากผลักดันให้เป็นนโยบายตั้งแต่สมัยร่วม “รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงแต่ไม่สามารถออก พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง เพราะถูกพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงนั้นเตะตัดขา

ต้องจับตามองว่า หลังกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การดูแลของ “พรรคเพื่อไทย” ผลักดันให้กลับไปเป็นยาเสพติด โดยตามขั้นตอนต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงลำดับสอง จะมีท่าทีอย่างไร จะกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่

ทีมข่าวการเมือง