การเมืองกำลังเข้มข้น มีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม แต่เรื่องที่หลายคนให้ความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้น กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภา(สว.) 200 คน และสำรอง 99 คนด้วยมติ 5:2 โดย “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการกกต. ยืนยันการเลือกตั้งเป็น ไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งขัดกับความรู้สึกของผู้สมัคร สว. หลายคนที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ที่ออกมาร้องเรียน เชื่อมีการฮั้วจัดตั้งลงคะแนนเกาะกลุ่มกัน แบบผิดสังเกตุ มีการแจกโพย เป็นการเลือกที่ไม่สุจริต เที่ยงธรรม แถมยังขู่ว่าหากองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ประกาศรับรอง สว. จะดำเนินคดีตามมาตรา 157 แต่ในที่สุดมีถึงวันที่คนไทยได้ได้เห็นโฉมหน้าสมาชิกสภาสูง ต้องรอดูกระบวนการร้องเรียน จะยังเดินหน้าต่อหรือไม่

ส่วนบุคคลที่ถูก กกต. ระงับสิทธิชั่วคราวหรือแจก “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการว่าเป็น “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้านเป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย” อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า “น.ส.คอดียะฮ์” เป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง ซึ่ง ศาลฎีกาวางแนวเอาไว้ว่า การเป็นที่ปรึกษานายก อบจ. ถือเป็นผู้บริหารท้องถิ่น จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว ทำให้เลื่อน “ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์” ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10

จากนี้ไปเมื่อผ่านกระบวนการรับรอง ต้องรอจะมีการนัดประชุมวุฒินัดแรกเมื่อไหร่ ซึ่งจะมีวาระเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ขณะที่ตัวเต็งประมุขสภาสูงหนีไม่พ้น “นายมงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ที่ลงสมัคร สว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงจาก จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นสายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ที่ทำงานรู้ใจกันมานาน หรือจะมีชื่ออื่นโผล่ขึ้นมาสอดแทรก

มงคล สุระสัจจะ

อีกปมร้อนที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำจัดตั้วรัฐบาล หลัง “วัน อยู่บำรุง” ประกาศไขก๊อกพ้นตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) หลังปรากฏภาพขณะไปร่วมติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ที่บ้านพักของ “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ปรากฎตามสื่อต่างๆ

ขณะที่ผู้สมัครที่เพื่อไทยให้การสนับสนุน “นายชาญ พวงเพชร” คว้าชัยไปอย่างหวุดหวิด พร้อมทั้งบอกว่าสัปดาห์หน้าจะยื่นใบลาออก พ้นการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกับ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก็ออกมาประกาศว่า “เมื่อหนุ่ม(นายวัน) ลาออกแล้ว ผมจะอยู่ในพรรคเพื่อไทยต่อได้อย่างไร ก็เลยขอให้พรรคขับผมออกจากพรรคตามระเบียบพรรคการเมือง เพื่อจะได้ไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งขณะนี้มีพรรคการเมือง 2-3 พรรคติดต่อเข้ามาแล้ว ยืนยันว่าผมตกได้ แต่ผมต่ำไม่ได้”

แม้ตระกูล “อยู่บำรุง” จะมีสส.อยู่ในพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่กี่คน แต่ยังมีแสงอยู่ในตัวต้องรอดูแรงกระเพื่อมครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยมากขนาดไหน “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตรหัวหน้าพรรคจะยับยั้งหรือไม่

ศิริกัญญา ตันสกุล

ส่วนเรื่องสุดท้ายเกี่ยวข้องกับผู้นำรัฐบาล หลังก่อนหน้านั้นพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตีฆ้องร้องป่าว ระบุว่า วันที่ 11 ก.ค. จะตั้งกระทู้ถามสด “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยมอบหมาย “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก.ซึ่งถือเป็นมือวางระดับต้นๆ ของเครื่องจักรสีส้ม ที่มีจุดขายเรื่องเชี่ยวชาญเศรษฐกิจจะตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ “ภคมน หนุนอนันต์“ ในฐานะรองโฆษกพรรคก.ก. ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากวิปรัฐบาลแล้วว่าในวันที่ 11ก.ค. นายกฯ จะไม่มาตอบกระทู้ถามสดของ สส.ในการประชุมสภาฯ ผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอีกครั้งที่นายกฯไม่ว่าง กับการตอบกระทู้ทั้งที่เป็นหน้าที่และเป็นภารกิจที่นายกฯ รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จะเกิดขึ้นทุกช่วงเช้าวันพฤหัสบดี

ต้องรอดูจะมีเสียงวิจารณ์ในทางลบ กระแทกไปถึงหัวหน้ารัฐบาลมากแค่ไหน แม้จะอ้างมีภารกิจแต่การให้ความร่วมมือกับกระบวนการนิติบัญญัติ ก็ถือว่ามีความสำคัญ ยิ่งรัฐบาลกำลังถูกวิจารณ์มุ่งแต่เรื่องแจกเงินหมื่น ผ่านดิจิทัล ว็อลเล็ต ไม่มีมาตรการอื่นๆ มาช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง การค้าขายซบเซา ดังนั้นการใช้เวทีสภาฯ แจกแจงการทำงานของฝ่ายบริหารน่าจะเป็นหนทางที่เป็นประโยชน์ แต่ “นายเศรษฐา” กลับปิดโอกาสตัวเอง.

“โต๊ะการเมือง”