เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายชัชวาล วุฒิเมธี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง รักษาการประมงจังหวัดตราด เปิดเผยถึง กรณีพบปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลาหมอคางดำ ในส่วนของพื้นที่จังหวัดตราดนั้น ประมงจังหวัดตราด ไม่นิ่งนอนใจ ได้ให้ประมงอำเภอทุกพื้นที่ของจังหวัดตราด รวมถึงชาวประมงพื้นที่ ประมงชายฝั่ง ให้ตรวจสอบและสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ ว่ามีปลาหมอคางดำหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นในขณะนี้ยังไม่พบว่าในแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดตราด มีปลาหมอคางดำแต่อย่างใด
ประกาศจับตาย ‘ปลาหมอคางดำ’ แข่งทำอาหารเพื่อชิงเงินรางวัลเกือบหมื่น
นายชัชวาล ยังกล่าวว่า ในส่วนของมาตรการนั้น ในตอนนี้เป็นการเฝ้าระวังเท่านั้น หากพื้นที่ไหนพบปลาหมอคางดำ ก็จะลงพื้นที่ทันทีและเร่งทำลายปลาหมอคางดำโดยเร่งด่วน ขณะที่พื้นที่ที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ บริเวณปากแม่น้ำเวฬุ และแม่น้ำเวฬุ ซึ่งเป็นรอยต่อจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ซึ่งปลาหมอคางดำนั้น อาจจะว่ายมาที่ปากแม่น้ำและเข้าในแม่น้ำได้ เพราะปลาหมอคางดำสามารถอยู่ในทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อยนั่นเอง ส่วนความกังวลที่ปลาหมอคางดำจะข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ทางประมงจังหวัดตราด มีการเฝ้าระวังเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในเวลา 16.30 น. ประมงจังหวัดตราด เตรียมประชุมหารือและวางแผนแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่อาจพบปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดตราด
ที่ จันทบุรี นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทย สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยการกินสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นอาหาร ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติเป็นวงกว้าง ซึ่งพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ขณะนี้พบปลาหมอคางดำ 2 แห่ง คือ ลุ่มน้ำพังราด ต.ช้างข้าม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี และ บริเวณคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ส่วนพื้นที่อื่นๆ ขณะนี้ยังไม่พบ
“ทั้งนี้ การดำเนินการของกรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี ขณะนี้คือการจับปลาหมอคางดำ จากแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะปล่อยปลากินเนื้อ คือ ปลากะพง ลงไปในจุดที่พบปลาหมอคางดำ เพื่อให้ปลากะพงไปกินตัวอ่อนของปลาหมอคางดำ โดยปลาหมอคางดำที่มีการจับขึ้นมา สามารถนำมาทำประโยชน์ได้ เช่น ทำเป็นปลาป่น หรือเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำปลา รวมทั้งเนื้อปลาหมอคางดำยังสามารถนำมาบริโภคได้ ซึ่งชาวบ้าน หรือเกษตรกรสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้” นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวอีกว่า การดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จะเริ่มคิกออฟในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค. 67) ที่ลุ่มน้ำพังราด เป็นพื้นที่แรก เนื่องจากพบมากที่สุด จากนั้นจะเข้าดำเนินการในพื้นที่บริเวณคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนและเกษตรกรพบเห็นปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติสามารถแจ้ง หรือรายงานผ่านระบบออนไลน์ของกรมประมง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
ทางด้าน เทศบาลตำบลช้างข้าม ร่วมกับชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจันทบุรี และสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี ได้มีการแข่งขันจับปลาหมอคางดำ บริเวณบ้านถนนสูง หมู่ 8 ต.ช้างข้าม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2567 โดยจะมีการปล่อยตัวผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ในเวลา 06.00 น. จากนั้นจะให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน กลับเข้าฝั่งในเวลา 11.00 น. เพื่อมาชั่งน้ำหนักปลาหมอคางดำ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันคนใดได้มากที่สุด คือ ผู้ชนะ รวมทั้งการจัดการแข่งขันทำอาหารเมนูปลาหมอคางดำ 2 เมนู โดยมีการเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท