สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ว่าคณะนักวิจัยซึ่งนำโดย ศ.โยชิฮิโระ คาวาโอกะ ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมพร้อมการระบาดใหญ่ การติดเชื้อ และการวิจัยขั้นสูง (ยูโทเปีย) สังกัดมหาวิทยาลัยโตเกียว เผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าว บนวารสารเนเจอร์ ของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ใช้ตัวรับความรู้สึก ในเซลล์ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์มาทำปฏิกิริยากับเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช5เอ็น1 จากทั้งวัวและจากนก ก่อนพบว่า เชื้อไวรัสที่ได้จากวัวมีความแข็งแกร่งด้านการยึดเกาะมากกว่าเชื้อไวรัสที่ได้จากนก บ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสจากวัว “แพร่สู่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” มากกว่าเชื้อไวรัสจากนก


คณะนักวิจัยยังยืนยันอีกว่า เชื้อไวรัสจากวัวสามารถก่อโรคในหนูและเฟอเรต ซึ่งเป็นสัตว์คล้ายพังพอน ได้สูง เมื่อเฟอเรตและหนูติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช5เอ็น1 ที่ได้จากวัว เชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย รวมถึงสมองและกล้ามเนื้อ และก่ออันตรายสูง
ศ.คาวาโอกะกล่าวว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง และควรให้ความสำคัญกับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอนาคตด้วยเช่นกัน


อนึ่ง เชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช5เอ็น1 มีลักษณะเฉพาะคือมีการการติดเชื้อได้ง่ายและเป็นอันตรายสูงมากในหมู่สัตว์ปีก ซึ่งการระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2543 ส่งผลให้สัตว์ปีกล้มตายจำนวนมาก


อย่างไรก็ตาม มีการพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้รับรายงานการติดเชื้อในมนุษย์แล้วอย่างน้อย 28 คน แต่ยังไม่มีการยืนยันกรณีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA