กรณีปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เสียงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป กระทั่งเช้าวันที่ 14 ก.ค. พบว่ามีประชาชนมาร่วมกิจกรรมกันจำนวนมาก ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
สุดคึกคัก! นักล่าแห่ลงน้ำเริ่มจับ ‘ปลาหมอคางดำ’ ขายโลละ 20 บาทแล้ว
เย็นวันเดียวกัน (14 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายความคืบหน้าการจัดกิจกรรม ล่าจับปลาหมอคางดำ ภายหลัง นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายกิตติพงษ์ รองเดช นายอำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมคณะลงเรือ ตรวจการณ์ ติดตามดูการไล่จับปลาหมอคางดำ พบว่ามีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งจับปลาหมอกลางดำได้ แต่ไม่นำมาขายจุดรับซื้อ โดยจะนำกลับไป ประกอบอาหารรับประทานกันที่บ้านกันเอง ขณะที่จุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ที่มีการรวบรวมเป็นตัวเลขได้ในวันนี้ อย่างเป็นทางการ 2,540 กิโลกรัม คาดว่าวันนี้ปลาหมอคางดำ ถูกจับขึ้นมาไม่น้อยกว่า 3 ตัน
นายสำรอง อินเอก หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการประมง รักษาการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนอกจากอำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร ในขณะนี้การประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับรายงานพื้นที่แพร่ระบาดเพิ่มเติม คือพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ ซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับอำเภอหัวไทร แต่ยังมีจำนวนไม่มากนักซึ่งจะเร่งหามาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วนต่อไป
โดยรักษาการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชยัง ระบุด้วยว่า ในจังหวัดสงขลา ที่มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดอย่างรุนแรงนั้น ทราบว่า ทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาค รัฐและเอกชน จะบูรณาการร่วมมือกันในการล่าจับปลาหมอคางดำ กันในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ต่อไป