นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง แถลงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยซึ่งพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อต้นปี 2567 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และปัญหาเชิงระบบนิเวศที่กำลังจะตามมา จึงได้มีการกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น และได้ออก 5 มาตรการสำคัญ ที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันพบการแพร่ระบาดเพิ่มในบางพื้นที่ของ 9 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และได้รับการแจ้งว่ามีการระบาดเพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม และนนทบุรี รวมทั้งสิ้นเป็น 16 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด
สำหรับกระแสสังคมที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในขณะนี้ กรมประมงได้มีการตรวจสอบพบว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2553 ได้มีบริษัทเอกชนขออนุญาตขำเข้ามาในประเทศไทย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ 1.ต้องเก็บตัวอย่าง ครีบดอง ส่งให้กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืดสำนักและวิจัยกรมประมงน้ำจืด 2.เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้รายงานผลการทดลอง หากการทดลองไม่เป็นผลให้ทำลายทั้งหมดโดยแจ้งกรมประมงเข้าตรวจสอบ ขณะที่บริษัทเอกชนอ้างได้นำส่งกลุ่มตัวอย่าง 50 ตัว ให้คณะวิจัยคณะกรรมการฯ โดยระบบจัดเก็บด้วยการอ้างอิง ได้มีการจัดเก็บ 2 ลักษณะ 1 ห้องตัวอย่างอ้างอิง เก็บทั้งตัวในขวดแก้วด้วยฟอร์มาลีน 2.ห้องปฏิบัติการเป็นการเก็บเนื้อเยื่อ ครีบปลา เลือด
ต่อมาบริษัทเอกชนเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงมีการนำเข้าปลามา 2,000 ตัว โดยนำเข้าสู้ฟาร์มเพาะเลี้ยงที่จังหวัดสมุทรสาคร และมีการแสะข่าวว่ากรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม 50 ตัวอย่าง จากการตรวจสอบข้อมูลโดยเอาสมุดบันทึกลงทะเบียนการลงรับข้อมูลที่นำสัตว์น้ำเข้า ตามระเบียนราชการโดยดูข้อมูลย้อนหลังไม่พบข้อมูลการนำส่งขวดปลา 50 ตัว ในสมุดคุมที่กรมประมงคุมอยู่ตั้งนั้นถึงปัจจุบัน และให้เจ้าหน้าที่หาขวดดังกล่าวก็ไม่พบ จากนั้นใน 2560 เกิดการแพร่ระบาด จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบจุดฝังกลบทำลายของบริษัทเอกชน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสิ่งก่อสร้างทับไปแล้ว
“ถ้าบริษัทมีหลักฐานหรือเอกสารว่าได้มีการส่งมอบขวดโหลที่กล่าวอ้างให้กับเจ้าหน้าที่คนไหน วันเวลาใด ก็ให้นำมาแสดงได้เลย แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบย้อนหลัง กรมประมงไม่พบเอกสารการรับตัวอย่างดังกล่าว นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบ ถึงกรณีที่มีการเว้นระยะเวลาถึง 6 ปี นับจากอนุญาตนำเข้า ปี 2553 โดยไม่ได้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการทำลายของเอกชน จนถึงปี 2560 ว่าเป็นเหตุจากอะไร ซึ่งไม่ใช่การตรวจสอบหาคนทำผิด แต่ต้องวางการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนบทลงโทษกรณีที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้ามาวิจัยนั้น ต้องยอมรับว่ายังไม่มีกฎหมายไปถึงทำได้เพียงไม่อนุญาตนำเข้าปลาชนิดเดียวกันเข้ามาได้อีก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ผมในฐานะกรรมาธิการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ในขณะนี้ เตรียมจะเพิ่มบทลงโทษทางอาญาเป็นโทษปรับ และบทลงโทษทางปกครอง เพื่อให้ผู้นำเข้าต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”
นายบัญชา กล่าวอีกว่า กรมประมงได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และปัญหาเชิงระบบนิเวศที่กำลังจะตามมา จึงได้มีการกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น และได้ออก 5 มาตรการสำคัญ โดยเบื้องต้นเสนองบประมาณไป 181 ล้านบาท ทั้งนี้จะได้เร่งจัดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ภายใน 1 สัปดาห์ ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างที่รองบกลาง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชน ในการมีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ซึ่งจะมีการกระจายจุดไปยังพื้นที่ระบาดโดยใช้แพปลาที่มีเครือข่าย เช่น 5 จังหวัดที่ระบาดหลัก จะมีจุดจำนวนมากหน่อย ส่วนจังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช เพิ่งระบาด จะมีแห่งละ 1 จุด”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เอกชนและกรมประมงพูดไม่ตรงกัน จะสามารถหาต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้หรือไม่ เป็นไปได้ไหมที่จะมีการขุดหลุมที่ฝังกลบปากหมอคางดำในฟาร์มของเอกชนที่อ้างว่านำไปฝังไว้ นายบัญชา กล่าวว่า ในทางวิชาการไม่รู้เลยว่าเวลาผ่านไป 14 ปี ตัวปลาหมอคางดำยังจะมีซากหลงเหลืออยู่หรือไม่ เมื่อถามย้ำว่ากรณีที่เกิดขึ้นทำไมถึงปล่อยให้เวลาเนิ่นนานจนแพร่กระจายรุกรานมากขนาดนี้ อธิบดี กล่าวว่า เป็นเพราะบริษัทเอกชนที่นำเข้าไม่เคยแจ้งมาทางกรมประมง ตอนทำลายฝังกลบก็ไม่แจ้ง
เมื่อถามว่า บริษัทดังกล่าวนอกจากปลาหมอคางดำแล้วยังมีการขออนุญาตวิจัยปลาเก๋าหยก เรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหรือไม่ นายบัญชา กล่าวว่า ปลาเก๋าหยกถือว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ เช่นเดียวกับปลาหมอคางดำ เบื้องต้นทราบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทุกเดือนเพื่อให้อยู่ในเงื่อนไขของการขออนุญาต