เกี่ยวกับการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายปัญญา โตกทอง เครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการภาคประชาชน คณะทํางานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการนําปลาหมอคางดํา มาปรับปรุงไขว้สายพันธุ์กับปลานิลจะได้ผลทำให้ทนน้ำเค็มได้มากขึ้นหรือไม่นั้น นายปัญญา ตอบว่า ตนไม่ใช่นักวิชาการจึงไม่ทราบ แต่หลายคนที่เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ก็สันนิษฐานตามปรากฏการณ์ที่เห็นและข่าวที่ได้ยินมาว่า พื้นที่นากุ้งร้าง เลี้ยงกุ้งระบบพัฒนาไม่ได้ ก็มีนายทุนที่อยากจะเลี้ยงปลานิล ปลาทับทิมในพื้นที่น้ำเค็ม จึงอาจจะเอาปลาดังกล่าวมาวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ให้ทนน้ำเค็มน้ำกร่อย และช่วงประมาณปี 2547-2548 ชาวบ้านพบเห็นปลานิลและปลาทับทิมได้เกิดโรคตายผิดปกติในหลายพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม
แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเห็นเมื่อปี 2554 มีปรากฏการณ์ปลาทับทิมขนาด 6-7 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไซซ์ที่ผู้เพาะเลี้ยงรู้กันดีว่ายังจับขายไม่ได้ แต่ถูกทิ้งเกลื่อนในลำคลองพื้นที่น้ำเค็ม จากนั้นค่อยๆ ทยอยตายจนในคลองปลาตายลอยแดงเถือก ปลาบางส่วนก็ทะลักไปตายในปากคลองที่ติดทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำเค็ม ก็ไม่มีใครทราบว่าอยู่ๆ ปลาทับทิมมันถูกปล่อยมาได้ยังไง แต่ถ้าเป็นของชาวบ้านใครจะทิ้ง ถ้าไซซ์นี้ชาวบ้านเขาไม่ทิ้งหรอก เพราะเอาไปขายเป็นปลาเป็ดได้ ที่สำคัญช่วงนั้นชาวบ้านไม่มีปัญญาเลี้ยงปลาทับทิมได้เยอะแยะขนาดนั้น เพราะชาวบ้านจะเลี้ยงแบบธรรมชาติไม่มีทุนเลี้ยงแบบพัฒนา
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่บริษัทใหญ่ออกมาบอกว่ามีผู้เลี้ยงปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงามมานานแล้วและมีการส่งออกเป็นหมื่นๆ ตัวนั้น ถ้าเรื่องเป็นจริงกรมประมงต้องรู้ เพราะถ้าปลามีการส่งออกต้องผ่านด่านศุลกากร มีชื่อบริษัทส่งออกและที่มาว่าเอาปลาจากฟาร์มไหนเพาะเลี้ยง เรื่องนี้ “ความจริงมีหนึ่งเดียว” เท่านั้น ถ้ามีชาวบ้านเอามาเลี้ยงจริง ทำไมปลาหมอคางดำไม่ระบาดในพื้นที่จังหวัดอื่นก่อน แต่กลับระบาดในพื้นที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับศูนย์วิจัยของบริษัทใหญ่ ยืนยันว่าชาวบ้านไม่มีปัญญานำเข้ามาเลี้ยงส่งออกไปต่างประเทศหรอกเพราะต้นทุนสูง เขาเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปูขายได้กิโลละ 200-300 บาทไม่ดีกว่าหรือ
“ถ้าบอกว่าชาวบ้านเลี้ยงเพื่อส่งออกเป็นปลาสวยงาม เรื่องนี้ไปสืบค้นได้เลย ไม่มีชาวบ้านที่ไหนเลี้ยงเป็นปลาหมอสีคางดำสวยงาม เลี้ยงในตู้ยังไม่เห็นมีเลย และที่ จ.สมุทรสงคราม ไม่มีใครเลี้ยงส่งออกแน่ จังหวัดเล็กๆ ถ้ามีใครเลี้ยงต้องมีข้อมูล ที่สำคัญไม่มีใครมีศักยภาพเลี้ยงส่งออกได้ขนาดนั้น ตาสีตาสายังต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำกินอยู่เลย จะมีปัญญาที่ไหนไปเลี้ยงส่งออก” นายปัญญา กล่าวต่อด้วยว่า วันที่ 23 ก.ค.นี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ จะไปกรมประมง เพื่อขอหลักฐานเกี่ยวกับเอกสารขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ เมื่อปี 2549 และนำเข้าไทยวันที่ 22 ธ.ค. 2553 เพื่อตรวจสอบว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้าตามที่อนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็แสดงว่าเป็นการลักลอบนำเข้า และที่บอกว่ามีบริษัทเอกชนหลายแห่งส่งออกปลาสวยงามใช้ชื่อ “ปลาหมอเทศข้างลาย” นี่ก็ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐาน รวมไปถึงข้อมูลเรื่องการส่งออกปลาหมอสีคางดำที่มีการอ้างถึงนั้น ใช่พันธุ์เดียวกันกับที่กำลังระบาดในปัจจุบันหรือไม่.