เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ไปถึงนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเลแล้วขณะนี้ว่า เรื่องนี้สมาชิกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยในพื้นที่แพร่ระบาดฝั่งอ่าวไทย 16 จังหวัด ได้ประสาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ เพื่อหารือหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในวันที่ 22 ก.ค. 67 เวลา 14.00 น. ที่สมาคมประมง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ปลาหมอคางดำระบาดและได้มีการระดมกำจัดอย่างจริงจัง แต่หากไม่ใช้มืออาชีพก็ปราบไม่หมด ที่น่าเป็นห่วงคือเขตอภัยทานตามวัดต่างๆ ต้องไม่มีการยกเว้น ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ด้วย
นายมงคล กล่าวด้วยว่า เนื่องจากตนเป็นชาว จ.สมุทรสงคราม เห็นการระบาดของปลาหมอคางดำกระจายไปวงกว้าง ยิ่ง จ.สมุทรสงคราม เป็นจุดเริ่มต้นแล้วก็ไม่สบายใจ จึงต้องช่วยภาครัฐหาทางร่วมแก้ปัญหานี้ว่า ต้องใช้ “มืออาชีพ” จึงจะต้องหารือกับ รมว.เกษตรฯ เรื่องการอนุญาตใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายเป็นกรณีพิเศษชั่วคราว เช่น “อวนรุน” ที่มีประสิทธิภาพมากและน่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยจับปลาหมอคางดำได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีไอ้โง่, โพงพาง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลพื้นที่นำร่องเป็นตัวอย่างและดำเนินการในพื้นที่ระบาดอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามเท่าที่ตนพูดคุยกับสมาชิกสมาคมประมงจังหวัดต่างๆ มีความเห็นว่า ภาครัฐยังไม่ควรปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพง ณ เวลานี้ แต่ควรกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่หนาแน่นให้เบาบางลงก่อน เนื่องจากหากปล่อยปลานักล่าไปตอนนี้ การจะล้อมจับปลาหมอคางดำจะทำได้ยากขึ้น
ประธานสมาคมการประมงฯ ยังกล่าวถึงกรณีปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดไปถึงนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเลว่า ปลาหมอคางดำ แม้จะไม่ชอบอาศัยอยู่ในทะเลเพราะน้ำเค็มแต่มันก็อยู่ได้ทุกสภาพน้ำ ที่ชอบมากคือป่าชายเลนเพราะอาหารอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นที่วางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ดังนั้นหาก “สัตว์น้ำวัยอ่อน” ถูกปลาหมอคางดำจับกินแบบทำลายล้าง ในอนาคตทั้งประมงชายฝั่งและประมงพาณิชย์อาจจะเดือดร้อนแน่ เพราะปลามีจำนวนลดน้อยลง ดังนั้นภาครัฐจึงไม่ควรประมาทจะต้องเร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว ส่วนปลาหมอคางดำจะเข้าไปในทะเลลึกกว่านี้หรือไม่นั้น คงไม่เข้าไปลึกกว่านี้ เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นปลาชอบอยู่น้ำกร่อย การลงทะเลลึกจึงไม่น่าจะทนน้ำเค็มได้ นอกจากนี้ในทะเลลึกยังมีปลานักล่ากินเนื้อจำนวนมากที่จะไล่ล่ากินปลาหมอคางดำ จึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งมีความสำคัญมากในการเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน.