เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 ก.ค. 67 ที่ประชุมวุฒิสภา ได้กลับมาประชุมอีกครั้ง และได้เริ่มต้นการเลือก รองประธานวุฒิสภา จำนวน 2 คน โดย รองประธานวุฒิสภาคนแรก มีผู้เสนอชื่อชิงตำแหน่ง รวม 4 คน คือ นายบุญส่ง น้อยโสภณ สว.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอชื่อ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง นายสหพันธ์ รุ่งโรจน์พาณิชย์ สว.กลุ่มกิจการอื่น เสนอชื่อ นายนพดล อินนา สว.กลุ่มสิ่งแวดล้อมฯ น.ส.นิชาภา สุวรรณนาค สว.กลุ่มอาชีพทำนา เสนอชื่อ นายปฏิมา จิระแพทย์ สว.กลุ่มสิ่งแวดล้อมฯ และ น.ส.มณีรัฐ เขมะวงค์ สว.กลุ่มเอสเอ็มอี เสนอชื่อ นายแล ดิลกวิทยรัตน์ สว.กลุ่มแรงงาน
จากนั้นเป็นการกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ตามลำดับที่จับสลากได้ คนละ 5 นาที ซึ่งเริ่มจาก พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ตนยึดมั่นและมีความจงรักภักดี รวมถึงจะธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เทิดทูน ปกป้องสถาบัน จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตนขอให้ความเชื่อมั่นกับ สว. ที่จะทำงานการเมืองและองค์กรอิสระ ที่เที่ยงธรรม เป็นกลาง เป็นที่พึ่งของประชาชน และให้วุฒิสภานี้ จะเป็นหลักดำเนินนการต่อชาติบ้านเมือง นอกจากนั้นแล้ว สว. ที่มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตนขอให้มั่นใจในเกียรติของ สว. ที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกคนทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับ สว. อย่างเท่าเทียมกัน เคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่เพิกเฉยเสียงน้อยที่เห็นต่าง
“ผมยืนยันว่าทำงานทุกอย่างเพื่อให้ สว. เป็นที่ยอมรับเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงาน หรือรับฟังความเห็นจากประชาชนทางตรงและทางอ้อม ผมขอสัญญาจะทำสิ่งที่ดีงามให้ สว. เป็นสภาทรงเกียรติ มี สว. จรรโลงความดีงาม เกิดประโยชน์ของประเทศต่อไป” พล.อ.เกรียงไกร กล่าว
ขณะที่ นายนพดล อินนา สว. กล่าววิสัยทัศน์ในลำดับต่อมาว่า หากได้มาทำหน้าที่ จะทำหน้าที่เป็นกลาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ปฏิบัติหน้าที่เอนเอียงตามกระแสสังคมหรือแรงกดดันการเมือง ตนอยากเห็นการขับเคลื่อนการประชุมวุฒิสภาที่มีบรรยากาศการประชุมที่ดี เปิดโอกาสให้ สว. ใช้ความรู้ความสามารถประสบการณ์ที่มีในอดีต มาใช้ในที่ประชุม ตนเชื่อว่าในที่ประชุมนั้นสำคัญมาก การทำงานต้องมีความสุข และตนเชื่อว่าสามารถทำงานร่วมกับ สว. ทำให้สภา สร้างประโยชน์ให้ประชาชนและประเทศ
“การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับวุฒิสภา ผมเชื่อว่าบุคคลทุกอาชีพ ไม่ว่าการศึกษาระดับใด มีความสำคัญเท่ากัน ความหลากหลายวิชาชีพร่วมผลักดันขับเคลื่อนสภาให้เดินหน้า เกิดประโยชน์กับประเทศประชาชน ผมอยากเห็นวุฒิสภาทำงานเชิงรุก ควรเดินหน้าเข้าหาประชาชน แทนประชาชนเข้ามามา ผมอยากเห็นกรรมาธิการสัญจร เพื่อรับฟังปัญหาประชาชน เพื่อสื่อสารวุฒิสภากับประชาชน ให้การแก้ปัญหาตรงจุด” นายนพดล กล่าว
นายปฏิมา กล่าวในลำดับถัดมาว่า สว. เปรียบเหมือนอวัยวะของร่างกายที่มีหลายส่วน ทำหน้าที่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องร่วมมือทำงานเพื่อประชาชน ประเทศ มุ่งไปที่การช่วยประโยชน์กับประชาชนที่เดือดร้อน ประเทศไทยอยู่ในขั้นโคม่า ตามตัวเลขเศรษฐกิจประเทศไทยมีปัญหาประชาชนรอคอยการเมืองที่ตกผลึก แก้ปัญหาปากท้อง หากการเมืองไม่นิ่ง จะไม่สามารถชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนได้ ตนเสนอว่าวันนี้เป็นวันแรกทำงานร่วมกัน ไม่ควรมีขัดแย้ง สร้างเอกภาพการบริหารบ้านเมือง หากรัฐบาลทำอะไรดี ต้องสนับสนุน แต่หากรัฐบาลหลงทางต้องตักเตือน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ตนอยากให้การทำงานวุฒิสภา ผสมผสานการทำงาน
ทางด้านนายแล กล่าววิสัยทัศน์เป็นคนสุดท้ายว่า วุฒิสภาเป็นสถาบันหนึ่งของการเมืองระบอบประชาธิปไตย เน้นเสรีภาพความหลากหลาย เท่าเทียม และสากล การทำงานของ สว. ต้องรักษาหลักการความเป็นผู้นำ และฐานะสมาชิกที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สภาสะท้อนมุมมองหลากหลาย รอบด้านครบถ้วน เพื่อกลั่นกรองของกฎหมายจากสภาล่าง พร้อมกับสะท้อนเสียงของประชาชนผู้ด้อยโอกาส ตนยืนยันว่า ไม่ว่าตนจะได้รับเลือกหรือไม่ ไม่ทำให้ความมุ่งมั่นหลอมรวมการทำงานให้สำเร็จเปลี่ยนไป
จากนั้นได้เข้าสู่การลงคะแนนลับ.