เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่วังกุ้ง ของนายอดิศร จันทร์สุขสวัสดิ์ เจ้าของร้านอาหาร “ก.แต” หมู่ 7 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ หลังเริ่มพบ “ปลาหมอมายัน” และ “ปลาหมอคางดำ” ในบ่อเลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจริมบ่อ พบลูกปลาหมอคางดำตัวเล็กลักษณะเหมือนเพิ่งฝักเป็นตัว เกาะกลุ่มอยู่ริมตลิ่งเป็นจำนวนมาก เมื่อทดลองสุ่มทอดแหเพียงครั้งเดียว ได้ปลาหมอคางดำตัวใหญ่สีสันสวยงาม และปลาหมอมายัน ขึ้นมาหลายตัว ทำให้เกิดความกังวลเรื่องการผสมพันธุ์กัน ของปลาทั้งสองชนิด ที่มีพฤติกรรมรวมกลุ่มล่าเหยื่อสร้างความเสียหายให้เกษตรกร
จากนั้นได้ทดลองผ่าท้องของปลาทั้งสองชนิดเพื่อดูความยาวของลำไส้ ผลปรากฏว่า ปลาหมอมายัน มีความยาวสำไส้ประมาณ 2 เท่าของลำตัว ส่วนปลาหมอคางดำ ยาวประมาณ 4-5 เท่าของลำตัว และนี่ก็อาจเป็นข้อมูลอย่างหนึ่ง ที่เกษตรกรตั้งข้อสังเกตว่าทำไม ปลาหมอมายัน ถึงขยายพันธุ์ได้ช้ากว่าปลาหมอคางดำ
นายอดิศร กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ กับ ปลาหมอมายัน สร้างความเสียหายให้เกษตรกรอย่างมาก กัดกินพันธุ์ลูกหอยแครง ลูกกุ้ง ลูกปู ราคาสูง ที่ซื้อมาเพาะเลี้ยงในบ่อ เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
นายไพบูรณ์ กิมยงค์ อายุ 46 ปี เกษตรกร กล่าวว่า ได้รับความเสียหายหนักจากปลาทั้งสองชนิดนี้ ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ปกติเคยจับกุ้ง ปู หอย ในบ่อขายได้ครั้งละหมื่นบาท แต่หลังจากเกิดการระบาดของปลาทั้งสองชนิดนี้ ทำให้รายได้หายไปมาก เหลือแค่ครั้งละหลัก 1-2 พันบาทก็เคยมี เรื่องการสร้างความเสียหายนั้น ปลาหมอคางดำทำมากกว่า เนื่องจากขยายพันธุ์ได้เร็วและมีจำนวนมาก ส่วนปลาหมอมายัน เหมือนจะขยายพันธุ์ได้ช้ากว่า แต่ถึงอย่างไร ทั้งปลาทั้งสองชนิดก็สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรไม่แพ้กัน
นายญาณกร อ่อนละม้าย อายุ 33 ปี เกษตรกร กล่าวว่า จากการทดลองผ่า รู้สึกว่าปลาหมอมายัน มีเนื้อและเกล็ดที่อ่อนนุ่มกว่า ลำไส้ยาว 2 เท่าของลำตัว ส่วนปลาหมอคางดำ จะมีความแข็งของเนื้อและเกล็ด ซึ่งต้องใช้แรงกดมากกว่า และมีลำไส้ยาวกว่า 4-5 เท่าของลำตัว
โดยเกษตรกรกลุ่มนี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงหน่วยงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ ช่วยลงพื้นที่มาให้ความรู้ ข้อมูล ขั้นตอนที่ถูกต้องกับเกษตรกร รวมถึงขอให้มาตั้งหน่วยรับซื้อปลาทั้งสองชนิดอยู่ในพื้นที่ ถ้าไปตั้งอยู่ไกล เวลานำไปขายจะไม่คุ้มค่าน้ำมันรถยนต์