เมื่อวันที่ 24 ก.ค.67 นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษาคณะ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการลงโทษ โดยเปลี่ยนจากการกักขังแทนค่าปรับ เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ ว่า ที่ประชุม กมธ. เห็นว่าการบริหารจัดการผู้กระทำความผิดของผู้ต้องหาตามโทษทางอาญาทุกขั้นตอนในกระบวนการยังมีปัญหาและอุปสรรค ซึ่งการลงโทษผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีหรือดำเนินคดีเสร็จแล้วและมีโทษปรับ แต่ผู้ต้องหาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับได้ ในทางกฎหมายให้นำตัวไปกักขังแทนค่าปรับนั้น ซึ่ง กมธ. เห็นว่าการนำบุคคลที่อยู่ในวัยทำงานแต่กระทำผิดไม่ร้ายแรงไปถูกกักขังแทนค่าปรับนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงสังคม เสียโอกาสด้านแรงงาน และกลายเป็นภาระของเรือนจำที่ต้องใช้งบประมาณ และบุคลากรในการดูแลผู้ต้องหา ดังนั้น หากกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาสามารถบำเพ็ญประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับ ก็จะช่วยลดปัญหาที่ตามมาได้ ลดข้อจำกัดและงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ได้
ด้านนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ที่ปรึกษาคณะ กมธ. กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการลงโทษ มาตรา 30 ระบุว่า ให้ผู้กระทำผิดสามารถถูกกักขังแทนค่าปรับในอัตราวันละ 500 บาท และห้ามกักขังเกินกำหนด 1 ปี เว้นแต่กรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับ 200,000 บาทขึ้นไป ศาลสามารถสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปีได้ แต่ไม่เกิน 2 ปี ผลดังกล่าวทำให้ผู้กระทำผิดต้องตกงาน ไม่มีอาชีพ และครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ประเทศขาดแรงงาน กมธ. จึงเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการลงโทษ มาตรา 30 ให้เปลี่ยนจากการถูกคุมขังแทนค่าปรับวันละ 500 บาท เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แทน สำหรับ มาตรา 30/1 ที่วางหลักว่า กรณีที่ศาลพิพากษาปรับ ผู้ต้องโทษปรับไม่ใช่นิติบุคคลและไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
“เมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาแล้วรัฐบาลจะอุ้มไปอีกกี่วัน อย่าลืมว่า 1 วันของคนจนมันไม่เท่าหับคนรวย และอย่าลืมว่า 1 บาทของคนรวยกับคนจนก็ไม่เท่ากัน ฉะนั้นเวลาปรับเงิน 1,000 บาทกับคนรวยมันเป็นเศษเงินของเขา แต่ถ้าปรับคนจนมันเป็นชีวิตเขาทั้งชีวิต ซึ่งบางที่ถูกปรับเป็น 2-3 แสน ถูกจำคุกเป็น 1-2 ปี ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีทุกพรรคการเมืองสนับสนุน ขอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงยุติธรรมให้เสนอร่างกฎหมายมาประกบร่างกฎหมายที่ กมธ. เสนอด้วย แต่หากไม่ทำก็ขอฝากให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ทำด้วยเพราะหากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะสามารถพิจารณาได้ทันที โดยไม่ต้องถูกรัฐบาลนำกลับไปพิจารณาศึกษาอีก 60 วัน“ นายสามารถ กล่าว.