เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ริมหนองหาร บริเวณท่าน้ำหน้าวัดมหาพรหมโพธิราช หมู่ที่ 3 บ้านท่าวัดเหนือ ต.เหล่าปอแดง อ.เมือง จ.สกลนคร นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 และพิธีเปิด (Kick Off) โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ “หนองหาร” (ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร) ประจำปีงบประมาณ 2567 ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ กว่า 2 ล้านตัว ลงสู่หนองหาร จังหวัดสกลนคร พร้อมมอบพันธุ์ปลาและเอกสารชุดความรู้ เรื่อง ชนิดสัตว์น้ำ ให้กับตัวแทนชุมชนเขตอนุรักษ์ฯ จำนวน 35 ชุมชน ตลอดจนเยี่ยมชมระบบ Mobile hatchery การผสมเทียมพ่อแม่พันธุ์ปลา และนิทรรศการความรู้ทางการประมง โดยจากการดำเนินโครงการฯ มากว่า 4 ปี สามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลาเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนแล้วกว่า 124,181,000 ตัว
นายบัญชา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2564 กรมประมงได้ดำเนินโครงการ ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน เพื่อฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศต้นน้ำและแม่น้ำสาขา ด้วยการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ซึ่ง 2 พื้นที่เป้าหมาย คือ หนองหาร จ.สกลนคร และกว๊านพะเยา จ.พะเยา โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ดำเนินการโครงการ ผลปรากฏว่า สามารถสร้างผลผลิตทรัพยากรปลาไทยและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากถึง 249,541,000 ล้านตัว
สำหรับปี 2567 นี้ กรมประมง มีแผนที่จะปล่อยปลา ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร ภายใต้โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ “หนองหาร” จำนวน 40,000,000 ตัว โดยกำหนดชนิดพันธุ์ปลาที่ได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์และปล่อยลงแหล่งน้ำ จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มปลาหนัง ได้แก่ ปลากดเหลือง ปลาเทโพ ปลาสวาย และ 2.กลุ่มปลากินพืช ได้แก่ ปลากาดำ ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาบ้า ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเพิ่มผลผลิตในโครงการนี้ และได้ดำเนินการในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำสายหลักหรือปากแม่น้ำโขง ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชนประมงอนุรักษ์ในพื้นที่รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาไข่แก่ น้ำเชื้อสมบูรณ์ ฉีดฮอร์โมนผสมเทียม รีดไข่ เพาะฟักจนออกเป็นตัวอ่อน และนำลูกปลาวัยอ่อนบรรจุถุงควบคุมอุณหภูมิแล้วนำไปปล่อยลงในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการขั้นตอน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน
สำหรับประเด็นเรื่อง “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังเป็นกระแส ขณะนี้แพร่ระบาดอยู่ใน 16 จังหวัดชายฝั่งทะเล จากการสำรวจตอนนี้ยืนยันว่ายังไม่มีเข้ามาในน้ำจืดทั้งภาคกลางและภาคอีสาน กรมประมงได้ออกแนวทางคู่มือป้องกันไม่ให้แพร่มาสู่แหล่งน้ำจืด ปลาหมอคางดำเมื่อขึ้นมาอยู่ในที่แห้งก็จะอยู่ได้ไม่เกิน 15 นาที โดยตัวผู้จะนำไข่ไว้ในปาก ไข่ที่อยู่ในปากจะมีอุณหภูมิที่เหมาะแก่การออกลูกมาเป็นตัวปลา ปลาอาจจะอมไข่ขณะที่เราไปซื้อก็ได้ หากไข่ตกอยู่ที่พื้น จะอยู่ได้อีกประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการนำปลาจากแหล่งปัจจุบันที่กำลังกระจายอยู่ใน 16 จังหวัด จะมาไม่ถึงแถวบ้านเราแน่นอน
แต่เพื่อมิให้ตื่นตะหนก ขอความร่วมมือเมื่อไปพบเห็น ไม่นำออกมาจากแหล่งที่ปลากำลังแพร่กระจาย เพราะกำลังกำจัดอยู่ ทางกรมประมงกำลังเร่งรัดนำปลาดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ปลาหมอคางดำไม่ได้เป็นสัตว์ดุร้าย แต่สำคัญคือออกลูกเร็ว 22 วัน ออกลูก 1 ครั้ง ใช้เวลา 3 เดือน โตสมบูรณ์ ทำให้มีจำนวนเยอะครองพื้นที่ เมื่อไม่มีอะไรกินก็จะไปกินสัตว์น้ำ หรือแพลงตอนสัตว์ เป็นการไปตัดตอน แทนที่ปลาในธรรมชาติแหล่งน้ำนั้นจะเข้าถึงอาหารได้โดยเร็ว ก็ถูกแย่งโดยปลาหมอคางดำ ทำให้ปลาตามธรรมชาตินั้นถูกควบคุมและลดลง ปลาหมอคางดำที่มีจำนวนมากกว่าก็จะยึดครองพื้นที่นั้น จริงๆ การนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ก็ทำได้ไม่ต่างกัน ทำอาหารได้กินอร่อย ยืนยันกว่าไม่มีแพร่มาทางภาคอีสาน เพราะปลาหมอคางดำที่จับแล้วจะตายภายใน 15 นาที ส่วนที่ไข่ที่อยู่ในปากปลาหมอตัวผู้ อยู่ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ด้วยระยะทาง ระยะเวลา ยังมาไม่ถึงภาคอีสานแน่นอน.